การตรวจคัดกรองสุขภาพตา หากจะนับอวัยวะในร่างกาย ที่ทำงานหนักมากที่สุด อันดับต้นๆ คงไม่พ้นดวงตา เพราะตั้งแต่ตื่น จนหลับ “ตา” จะทำหน้าที่ตลอดเวลา ไม่ได้พักผ่อน โดยกว่าร้อยละ 80 ของสิ่งที่เราเรียนรู้ในชีวิต ก็มาจากการมองเห็นด้วยตาทั้งสิ้น แต่คนทั่วไป มักไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพตา แต่จะให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพร่างกายเสียมากกว่า ทั้งๆที่ “ตา” เป็นส่วนที่สัมพันธ์กับภายนอก ได้รับการถูกกระทบได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการจ้องหน้าคอมพิวเตอร์ มือถือ อ่านหนังสือ แสงแดด ฝุ่น สารเคมี หรือจากพันธุกรรมที่ส่งผลต่อตา เช่น ต้อหิน การตรวจสุขภาพตา จะช่วยค้นหาโรคทางตาที่พบได้บ่อย โรคทางตาในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาสาเหตุที่อาจนำไปสู่การสูญเสียสายตาทั้งชั่วคราวและถาวรได้

ตรวจสุขภาพตา
ประโยชน์ของการตรวจสุขภาพตา

  1. การตรวจพบปัญหาทางสายตา เมื่อได้รับการแก้ไข จะทำให้การมองเห็นดีขึ้น
  2. การตรวจพบโรคทางตา ในระยะเริ่มแรกแนวโน้มการรักษาให้หายจะเป็นไปได้ง่ายขึ้น
  3. การตรวจตาช่วยให้พบโรคทางกายได้
  4. การตรวจตาในโรคทางกายบางอย่างสามารถช่วยยืนยัน การวินิจฉัยโรคได้
  5. ความผิดปกติของสมองบางอย่างสามารถตรวจดูที่ขั้วประสาทตาโดยตรงจากการตรวจตาได้

ตรวจสุขภาพตา

ตรวจสุขภาพตา

ผู้ที่ควรตรวจสุขภาพตา

  1. คนทุกเพศ ทุกวัย สามารถมาตรวจสุขภาพตาได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการผิดปกติทางตาชัดเจน เช่น
    มีอาการตามัว ตาแดง ปวดตา มองภาพไม่ชัด มองภาพผิดปกติ มองเห็นแสงวาบ เห็นจุดในตา มองเห็นสีผิดเพี้ยนไปจากเดิม มีก้อนเนื้อหรือติ่งเนื้อบริเวณดวงตา และอื่น ๆ
  2. ตรวจตามเกณฑ์อายุ ในผู้ที่ไม่พบความผิดปกติทางตา หรือการตรวจสุขภาพตาประจำปี เช่น ผู้ที่มีอายุ ระหว่าง 40 – 60 ปี ควรตรวจสุขภาพทุก ๆ 1 ปี
  3. ครอบครัวมีประวัติโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคต้อหิน โรคจอประสาทตา และ อื่น ๆ
  4. ในผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมธัยรอยด์ โรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE)
    โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS) โรคเลือด เป็นต้น
  5. ตรวจสุขภาพตาในผู้ที่ได้รับยาบางชนิด ที่มีผลข้างเคียงต่อตา เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาวัณโรคบางชนิด
    ยารักษาโรคข้อ ยารักษาโรคภูมิแพ้ตัวเอง เป็นต้น
  6. ตรวจสุขภาพตาในผู้ที่ทำงานใช้สายตามาก ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุทางตา ผู้ที่สูญเสียการมองเห็นในตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองตา เป็นต้น

การปฏิบัติตัวก่อนมาตรวจสุขภาพตา

  1. แนะนำให้ใส่แว่นตามาแทนการใส่คอนแทคเลนส์ (กรณีผู้ป่วยมีสายตาผิดปกติ)
  2. แนะนำให้นำประวัติการรักษาทางตา ยาทางตาที่ใช้ประจำ รวมทั้งยาที่ใช้ในการรักษาโรคทางกายมาด้วย เพื่อให้จักษุแพทย์ดู
  3. แนะนำให้นำบัตรประจำตัวการแพ้ยา มาด้วย (ถ้ามี)
  4. สตรีมีครรภ์ที่มีปัญหาเรื่องสายตา อาจพบสายตาที่ไม่เที่ยงตรงได้ ซึ่งอาจเกิดจากฮอร์โมนในร่างกาย แนะนำ
    ให้มาตรวจสุขภาพตาหลังคลอดบุตรหรือภายหลังบุตรหย่านมแม่แล้ว
  5. ไม่ควรขับรถมาเอง เนื่องจากในขั้นตอนการตรวจสุขภาพตา อาจต้องมีการทำหัตถการเพิ่มเติม เช่น การขยายรูม่านตาจะมีอาการตามัว มองภาพเบลอในระยะใกล้ ตาสู้แสงไม่ได้ แนะนำให้นำแว่นกรองแสง หรือแว่นตากันแดดมา และแนะนำให้พาญาติที่สามารถพาท่านกลับบ้านได้มาด้วย
  6. การหยุดใช้ยาบางประเภท เช่น ยาที่มีฤทธิ์หดรูม่านตา ควรหยุดยาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนวันมาตรวจสุขภาพตา

ตรวจสุขภาพตา ตรวจอะไรบ้าง ?

  1. ตรวจตาทั่วไป โดยจักษุแพทย์ (Eye Examination by Ophthalmologist)
  2. ตรวจระดับการมองเห็น (Visual Acuity Test หรือ VA)
  3. ตรวจวัดความดันลูกตา (Auto Tonometer)
  4. ตรวจวัดสายตา สั้น ยาว เอียง (Auto Refractometer)
  5. ตรวจความโค้งของกระจกตา (Auto Keratometer)
  6. ตรวจจอประสาทตา โดยไม่ขยายม่านตา (Auto Retina Camera หรือ Fundus Camera)
  7. ตรวจคัดกรองตาบอดสี (Color Vision Test)
  8. ตรวจค่ากำลังเลนส์ตา (Portable Lensmeter)
ตรวจสุขภาพตา

Woman doing eye sight test

ผลข้างเคียงในการตรวจตา (พบได้น้อยมาก)

  1. อาการแพ้ยาชาหยอดตา อาจมีอาการตาแดง หนังตาบวม ซึ่งจะหายไปได้เอง แต่ถ้าไม่ทุเลา แนะนำให้กลับมาพบจักษุแพทย์
  2. กรณีหากมีการขยายม่านตาเพิ่ม อาจมีอาการตามัวหลังขยายม่านตาประมาณ 4-6 ชม. ควรระมัดระวังเรื่อง
    อุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ผู้ที่มีประวัติความดันโลหิตสูงอาจมีอาการความดันโลหิตสูงกะทันหันจากการหยอดขยายม่านตา บางชนิดได้
  3. ในผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดเฉียบพลัน อาจมีอาการปวดตามากขึ้น แนะนำมาพบจักษุแพทย์ทันที

สอบถามรายละเอียด เพิ่มเติมได้ที่ :
ศูนย์จักษุ โทร.034-417-999 ต่อ 277 สายด่วน 1715