การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ เช่น โรคภูมิแพ้จมูก หอบหืด หรือแพ้อาหาร นอกจากต้องอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายแล้ว ยังมีวิธีการทดสอบอีกหลายวิธีเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา แต่ที่นิยมทำกันมี 2 วิธี คือ
- การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy skin testing)
- การเจาะเลือดหาสารก่อภูมิต้านทานที่จำเพาะกับสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด(Serum Specific IgE)
โดยสามารถแบ่งสารก่อภูมิแพ้ออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- สารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ เช่น ไรฝุ่นบ้าน แมลงสาบ รังแคสุนัขและแมว หญ้าและวัชพืช สปอร์เชื้อรา เป็นต้น
- สารก่อภูมิแพ้ในอาหาร เช่น นมวัว ถั่วเหลือง ไข่แดง ไข่ขาว แป้งสาลี อาหารทะเล เป็นต้น
โดยทั่วไปสามารถทดสอบได้ทุกเพศทุกวัย แต่ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนและในผู้สูงอายุ อาจให้เป็นผลลบลวงได้เพราะความไวของผิวหนังน้อย
ประโยชน์ของการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้
- ทำให้ผู้ป่วยทราบว่าสารก่อภูมิแพ้ชนิดใดเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ เพื่อจะการกำจัดหรือหลีกเลี่ยงได้ตรงชนิด อันนำมาสู่การควบคุมโรคที่ดียิ่งขึ้น
- ถ้าจำเป็นต้องรักษาโดยการฉีดหรือกินสารก่อภูมิแพ้ (Immunotherapy) จะได้เลือกฉีดหรือกินได้ตรงชนิด ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลดี
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy Skin Testing)
การทดสอบวิธีนี้หลักๆ จะมี 2 วิธีคือการสะกิดผิวหนัง (Skin Prick Test) และ การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Intradermal Test) ซึ่งวิธีแรกคือการสะกิดผิวหนัง ได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจากทำง่าย เร็ว ไม่เจ็บและใช้อุปกรณ์น้อย เสี่ยงต่อการแพ้แบบรุนแรงน้อย
ขั้นตอนวิธีการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังโดยวิธีสะกิด (Skin Prick Test)
- ทำความสะอาดผิวหนังที่จะทดสอบ (ท้องแขนหรือหลัง)
- ขีดเส้นแสดงตำแหน่งที่จะทำการทดสอบ
- ใช้อุปกรณ์ปลายแหลมซึ่งจุ่มในน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ร่วมกับ Positive control คือ Histamine และ Negative control คือ น้ำเกลือ (NSS) สะกิดเบาๆ ที่ชั้นหนังกำพร้าบริเวณที่จะทำการทดสอบ
- อ่านผลที่เวลา 15 นาทีหลังทำการทดสอบ
- เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย แนะนำให้นั่งพักรอดูอาการอย่างน้อย 30 นาที หลังการทดสอบ เพื่อสังเกตอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้
หากผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้นั้น ก็จะเกิดปฏิกิริยาขึ้นเป็นรอยนูน (wheal) และรอยแดง (flare) จากนั้นจะวัดขนาดรอยนูนรายงานผลเป็นหน่วย มม.xมม.(mm x mm)
การเตรียมตัว
1. งดยาแก้แพ้ (Antihistamine) และยาบางชนิดอาจมีส่วนผสมของยาแก้แพ้ เช่น ยาแก้หวัด ยาลดน้ำมูก ยาแก้คัน ยาแก้เมารถ ก่อนมารับการทดสอบเฉลี่ยอย่างน้อย 7 วัน
2. ผู้ป่วยที่มีโรคทางจิตเวชหรือผู้ที่กินยากดภูมิสเตียรอยด์ต้องแจ้งชื่อยาที่รับประทานอยู่ให้แพทย์ที่จะทำการทดสอบทราบด้วย เพราะยาบางชนิดต้องงดก่อนทำการทดสอบ
3. ควรงดยาสเตียรอยด์ชนิดทาผิวหนัง เนื่องจากอาจมีผลกดปฏิกิริยาการทดสอบ
4. ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนมาทดสอบ
การเจาะเลือดหาสารก่อภูมิต้านทานที่จำเพาะกับสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด (Serum Specific IgE)
เป็นการเจาะเลือดประมาณ 3-5 มิลลิลิตร เพื่อหาสารก่อภูมิต้านทานที่จำเพาะกับสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด (Serum Specific IgE) ในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยแพ้สารชนิดใดบ้าง และแพ้ในระดับมากหรือน้อยเพียงใด โดยการเจาะเลือดหาค่า IgE จะเหมาะกับผู้ที่เป็นโรคผิวหนังหรือมีปฏิกิริยาแพ้ทางผิวหนังง่าย ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดยาแก้แพ้ก่อนตรวจ รวมถึงยังใช้เวลาไม่นาน เพียงแค่เจาะเลือด 1 ครั้ง ก็สามารถหาสารก่อภูมิแพ้ได้หลายชนิด การทดสอบด้วยการเจาะเลือดจึงนับว่ามีความปลอดภัย และไม่เสี่ยงต่ออาการแพ้แบบรุนแรง แต่อาจรอผลตรวจหลายวัน
ข้อดีและข้อเสียเปรียบเทียบระหว่างการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังและการเจาะเลือด
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin prick test) | การเจาะเลือดเพื่อหาสารก่อภูมิต้านทาน (Serum Specific IgE) | |
ข้อดี | – ทำได้ง่ายและไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด
– ทราบผลการทดสอบได้เร็ว – ผลการทดสอบมีความน่าเชื่อถือได้ดี – ค่าใช้จ่ายถูกกว่า |
– ผลการทดสอบมีความน่าเชื่อถือได้ดี
– ไม่ต้องงดยาแก้แพ้ – ในกรณีแพ้รุนแรงก็สามารถทดสอบได้เลย – ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผื่นแพ้หรืออาการแพ้แบบรุนแรง (anaphylaxis) |
ข้อเสีย | – ต้องงดยาแก้แพ้และยาอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อการทดสอบ
– ในกรณีแพ้รุนแรงต้องรอทดสอบหลังเกิดอาการประมาณ 4-6 สัปดาห์ – อาจได้รับความเจ็บปวดจากการสะกิดผิวหนังและหรือระคายเคืองหรือคันจากปฏิกิริยาการแพ้นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผื่นแพ้และอาจมีอาการแพ้แบบรุนแรง (anaphylaxis) ได้ |
– อาจจะได้รับความเจ็บปวดมากกว่า
– ต้องรอผลนานประมาณ 2 สัปดาห์ – ค่าใช้จ่ายสูงกว่า |
หมายเหตุ : ทางทีมแพทย์และพยาบาลจะสังเกตอาการผู้ทำการทดสอบอย่างใกล้ชิดและให้การรักษาอาการแพ้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ได้เตรียมแผนการดูแลรักษาไว้แล้ว กล่าวคือ
- สถานที่ที่จะทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง คือ แผนกผู้ป่วยนอกเด็ก โรงพยาบาลเอกชัย โดยจะมีการเตรียมเครื่องมือ และยาต่างๆ เช่น Adrenaline (ยาหลักที่ใช้รักษาภาวะแพ้รุนแรง) และอุปกรณ์กู้ชีพไว้ทุกครั้ง
- การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และจะมีทีมแพทย์และพยาบาลคอยสังเกตและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
- หากเกิดภาวะแพ้ไม่ว่าจะเป็นแบบรุนแรงหรือไม่รุนแรง จะมีแนวทางปฏิบัติเป็นแบบแผนที่ชัดเจน
โดย พญ.กรวิภา กิตตินนท์ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านภูมิแพ้เด็ก
ศูนย์กุมารเวช อาคารกุมารเวช รพ.เอกชัย โทร.1715 ต่อ 9221, 9222