“โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท”

เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอ ปวดหลัง เรื้อรัง เพราะการเปลี่ยนแปลงของหมอนรองกระดูกสันหลัง อาจเป็นผลที่มาจากวัยที่สูงขึ้น ทำให้สูญเสียการควบคุมการทำงานของอวัยวะนั้น ๆ หมอนรองกระดูกเป็นอวัยวะที่คั่นอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ มีลักษณะเหนียว และยืดหยุ่น มีหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกายและรองรับแรงกระแทก เส้นประสาทไขสันหลังอยู่ในโพรงกระดูกสันหลัง มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย , ควบคุมการขับถ่าย และควบคุมการรีเฟล็กซ์ เช่น ชักขาออกทันทีเมื่อเหยียบตะปู เป็นต้น

ลักษณะอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทระดับคอ

  • มีอาการปวดที่บริเวณต้นคอ
  • ปวดร้าวลงไหล่ แขน มือมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ และชา
  • มีการสั่นเวลาเดิน

ลักษณะอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทระดับเอว

  • ปวดหลัง
  • ปวดสะโพกร้าวลงขา
  • ขาและเท้ามีอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • มีปัญหาการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ

สาเหตุหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  • อายุมากขึ้นเกิดการเสื่อมตามวัย หมอนรองกระดูกที่เหี่ยวบางลง กระดูกสันหลังหลวมมากขึ้นทำให้ หมอนรองกระดูกปริแตกได้ง่าย ทำให้เกิดอาการปวดคอ ปวดเอวหลัง หรือปวดหลัง
  • เกิดจากการยกของหนัก การเดิน ยืน นั่ง ที่ผิดสุขลักษณะ หรือการเล่นกีฬาผิดท่า เป็นต้น ทำให้เสื่อมสภาพ จากการใช้งาน ทำให้เกิดอาการปวดคอ ปวดเอวหลัง หรือปวดหลัง
  • ผู้ที่ทำงานออฟฟิศ ที่ต้องนั่งหน้าคอมเป็นเวลานาน และไม่ออกกำลังกาย ทำให้เกิดอาการปวดคอ ปวดเอวหลัง หรือปวดหลัง
  • เกิดจากการกระแทกรุนแรง หรือเกิดจากอุบัติเหตุ ทำให้เกิดอาการปวดคอ ปวดเอวหลัง หรือปวดหลัง
  • อิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง เช่น นอนบนฟูกนิ่มเกินไป , นั่งหลังค่อมนาน ๆ ทำให้เกิดอาการปวดคอ ปวดเอวหลัง หรือปวดหลัง
  • หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน มักพบในคนที่ก้มตัวยกของหนัก มีอาการปวดร้าวไปตามด้านหลังขา อาจมีอาการชากล้ามเนื้อข้อเท้า หรือนิ้วเท้าอ่อนแรง
  • สาเหตุอื่น ๆ
    •   กระดูกสันหลังคด
    •   โครงสร้างกระดูกสันหลังผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด

การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  • พักผ่อน
  • การรับประทานยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ
  • การทำกายภาพบำบัด
  • การผ่าตัด เพื่อนำส่วนที่กดทับเส้นประสาทออก หรือนำหมอนรองกระดูกที่เสื่อมสภาพออก
  • ผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกสันหลัง หรือใส่หมอนรองกระดูกเทียม

การรักษาด้วยการผ่าตัดมีหลายวิธี เช่น

  • ผ่าตัดแบบเปิดแผลมาตรฐาน
  • ผ่าตัด แผลเล็ก เรียกว่า Minimally invasive spine surgery

การผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยใช้กล้องขยายขนาดเล็ก (Minimally invasive spine surgery)

ใช้การฉีดยาชาควบคู่กับยาระงับความรู้สึก ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกตัวตลอดการผ่าตัด ในบางรายแพทย์อาจจะให้ใช้ยาสลบแทน การผ่าใช้การกรีดแผลเล็กเพียงประมาณ 2 นิ้วที่บริเวณกระดูกสันหลัง แพทย์จะทำการเปิดกล้ามเนื้อบริเวณหลังไปไว้อีกข้างหนึ่ง แล้วใช้สายท่อซึ่งมีความยืดหยุ่นติดอุปกรณ์ผ่าตัดและกล้องขยายขนาดเล็กประสิทธิภาพสูงเข้าไป กล้องจะขยายและแสดงภาพให้แพทย์เห็นอย่างชัดเจนและสามารถนำเอาเนื้อเยื่อหมอนรองกระดูกที่กดทับและชิ้นส่วนเล็กๆ ออกมาได้

การดูแลตัวเองหลังการรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้น แต่ละกลุ่มก็จะมีวิธีการดูแลตัวเอง ที่แตกต่างกันออกไป

การดูแลรักษาหลังการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทระดับคอ

คนไข้ที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคอจะต้องดูแลตัวเองด้วยวิธีปรับการใช้ชีวิตประจำวันใหม่ อาทิ หากต้องนั่งนานๆ ควรปรับท่านั่งให้หลังตรงหรือเดินตัวตรง อย่านั่งนานเกินไป ควรลุกขึ้นยืน หรือปรับเปลี่ยนอากัปกิริยา ทุกๆ ชั่วโมงเพื่อลดอาการปวดคอ คอแข็ง หลีกเลี่ยงการบิดหมุนคอหรือสะบัดคอบ่อยๆ , การนอนควรใช้ หมอนหนุนศีรษะโดยมีส่วนรองรับใต้คอให้กระดูกคออยู่ในลักษณะปกติ , บริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรงสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการทำงานโดยแหงนคอเป็นเวลานานๆ บ่อยๆ เป็นต้น

การดูแลรักษาหลังการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทระดับเอว

ส่วนคนไข้ที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทระดับเอว เมื่อเข้ารับการรักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งหนึ่งที่คนไข้ไม่ควรละเลยก็คือการดูแลตัวเองหลังการรักษาและปฏิบัติตัวให้เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทระดับเอวอีก โดยการไม่ยกของหนักจนเกินไป หรือหากต้องยกของหนักจากพื้นควรยกในท่าที่ถูกต้อง ไม่ควรก้มเลยทันที
ควรย่อเข่าแล้วยกของ และถือของชิดตัวเพื่อลดอาการปวดบ่า ปวดไหล่ ส่วนการออกกำลังกายนั้นควรออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรหักโหมเกินไป

เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย นายแพทย์สมบัติ  คุณากรสวัสดิ์

ความชำนาญพิเศษ : ศัลยกรรมกระดูก เฉพาะทาง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์กระดูกและข้อ

โรงพยาบาลเอกชัย โทร. 1715 หรือ 034-417-999 ต่อ 132

View  our Specialists in our Orthopaedic Doctors page