การเกิดภาวะสมองขาดเลือด
ภาวะ สมองขาดเลือดที่มีเนื้อสมองตาย มักเกิดจากการขาดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยง โดยทั่วไปเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดแดงในสมองหรือหลอดเลือดแดงคาโรติด (Carotid) ซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงบริเวณคอที่นำเลือดไปเลี้ยงสมอง ภาวะสมองขาดเลือดมักเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic Stroke) หรือภาวะหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) ซึ่งเกิดจากการที่ผนังหลอดเลือดแตกทำให้มีเลือดคั่งในเนื้อสมอง ประมาณ 1 ใน 3 ของ ผู้ป่วยมักมีอาการของภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวนำมาก่อน ลักษณะดังกล่าวมักเป็นเวลาสั้นๆ เกิดขึ้นเมื่อเลือดและออกซิเจนไหลเวียนลดลงชั่วคราว ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวหรือเรียกว่า ‘TIA’ มีอาการเกิดขึ้นตั้งแต่ 2-3 นาทีถึงเป็นชั่วโมง เป็นสัญญาณเตือนบอกถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองขาดเลือดเพิ่มขึ้นใน อนาคต
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง มีดังนี้
- โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด
- โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่น้ำตาลในเลือดในช่วงที่งดอาหารสูงมากกว่า 120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะมีความเสี่ยงต่อหลอดเลือดตีบมากขึ้น
- ระดับไขมันในเลือดสูง ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว มีการตีบแคบลงในที่สุด ทำให้เกิดการอุดตันได้
- โรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ
- การสูบบุหรี่และดื่มสุรา
- ขาดการออกกำลังกายจะเพิ่มความเสี่ยงของของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน
- ความอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก มีโอกาสเป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูงหรืออาจเป็นได้ทั้ง 2 โรค
- อายุ โรคหลอดเลือดสมองมักพบในคนอายุมากกว่า 65 ปี แต่คนที่อายุน้อยกว่านี้ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้
- ประวัติในครอบครัว ถ้าบุคคลในครอบครัวของคุณเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน จะเพิ่มความเสี่ยงให้คุณมากขึ้น
- ความเครียด
5 สัญญาณอันตราย
โรค อัมพาตมักจะมีอาการเตือนก่อนที่จะเกิดโรค โปรดจำไว้หากท่านมีอาการอันใดอันหนึ่ง แม้ว่าขณะนี้ท่านจะสบายดีควรปรึกษาแพทย์ อาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันเป็นสัญญาณเตือนถึงความเสียหายชั่วคราวที่ เกิดขึ้นกับการไหลเวียนของเลือดไปสู่สมอง
- ตาพร่ามัวมองเห็นภาพซ้อน
- อาการชาครึ่งซีก หน้าชา ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง
- พูดลำบาก ฟังไม่เข้าใจ
- เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ
- ปวดศีรษะรุนแรง
หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรนำส่งโรงพยาบาลเพื่อการตรวจและวินิจฉัย ภายใน 3 ชม.
ความรุนแรงของโรคมีอาการแตกต่างกัน แยกได้เป็น 3 ระดับ
- อาการเตือน คือ กลุ่มของผู้ที่มีหลอดเลือดสมองแตก หรือตีบตันเป็นหลอดเลือดขนาดเล็ก ยังไม่เกิดการตายของเนื้อสมองในบริเวณนั้นสมองขาดเลือดในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้เกิดอาการซึ่งอาจเป็นนาที หรือชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ลักษณะอาการประกอบด้วย กล้ามเนื้ออ่อนแรงครึ่งซีก, ชา ครึ่งซีก,ใบหน้าจะเห็นมุมปากตก อมน้ำไว้ในปากไม่ได้ อาจคิดอะไรไม่ออก พูดไม่ชัด เป็นต้น หลังจากนั้นอาการของผู้ป่วยจะหายสนิทภายใน 24 ชั่วโมง
- อาการปานกลาง (อัมพฤกษ์) ใน กลุ่มนี้เนื้อสมองถูกทำลายไปแล้วบางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด ภายหลังการรักษาแล้ว อาการอาจดีขึ้นเรื่อย ๆ ภายใน 6-12 เดือน แต่อาจจะไม่กลับมาจนเป็นปรกติ
- อาการรุนแรง (อัมพาต) กลุ่ม นี้เซลล์สมองถูกทำลายโดยถาวร จะเกิดการอ่อนแรงของแขนและขา ขยับแขนหรือขาเองไม่ได้ สูญเสียการทรงตัว พูดไม่ได้ หรือเปล่งเสียงออกมาจากลำคอไม่ได้ กล้ามเนื้อหน้าทำงานไม่เท่ากัน ซึงอาการอาจไม่ดีขึ้นเลย ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพอย่างถาวร
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน
สิ่ง ที่เป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้เกิดความสำเร็จในการรักษา โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน คือ การทำให้เซลล์ของสมองยังอยู่รอดให้ได้นานที่สุด ถ้าเราสามารถทำให้เลือดไหลเวียนได้ทันเวลาและในระดับที่เพียงพอ ก็สามารถทำให้เนื้อสมองบริเวณนั้นฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งการรักษานี้จะต้องทำภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อให้ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolysis) การ ให้ยานี้ผู้ป่วยควรอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้านสมองเท่านั้น หลังจากให้ยาแล้วผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ควรอยู่ในโรงพยาบาล 2-3 วัน เพื่อดูอาการต่อไป หากเกิน 3 ชั่วโมงแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในหอผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมอง เพื่อทำการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยมากที่สุด เช่น
- รักษา โดยการให้ยาบางประเภท เพื่อให้เซลล์สมองเสียน้อยที่สุด โดยระยะแรกๆ ควรจะดูแลผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน อย่างใกล้ชิด เพื่อสังเกตอาการแทรกซ้อน บำบัดรักษาโรคอื่นๆ ของผู้ป่วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันสูง โรคไต ปอดบวม กลืนลำบาก เป็นต้น
- ใช้กายภาพบำบัดในรายที่เป็นอัมพาต ไม่ว่าจะเป็นการฝึกนั่ง ยืน เดิน การฝึกกลืน ฯลฯ
- ในรายที่ซึมเศร้า เป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่เป็นโรคอัมพาต มักจะให้การรักษาโดยใช้จิตบำบัดร่วมด้วย ผู้ป่วยควรได้รับการฟื้นฟูมากที่สุด เพื่อให้ช่วยเหลือตัวเองหรือเป็นอิสระมากที่สุด ผู้ป่วยบางรายช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทีมแพทย์และพยาบาล ควรจะมีการติดตามอาการผู้ป่วยขณะบำบัดที่บ้านด้วย
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
- ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ถ้ามีความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับปกติ
- งดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่มีผลต่อการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด การแข็งตัวของเลือด หลอดเลือดแดงแข็ง และตีบง่ายขึ้น
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
- ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เพศและวัย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วันๆ ละ 30 นาที
- งดอาหารเค็ม อาหารที่มีไขมัน หรือมีโคเลสเตอรอลสูง
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ทำจิตใจให้แจ่มใส หลีกเลี่ยงความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ
- ควรตรวจสุขภาพร่างกายจากแพทย์เป็นประจำทุกปี ถ้ามีโรคหัวใจ ภาวะไขมันในเลือดสูง ควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
- ผู้ที่กินยาป้องกันการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
แพทย์ประจำศูนย์
นพ. ณราดล โตวณะบุตร
ความชำนาญพิเศษ : อายุรกรรมด้านระบบประสาทและสมอง
วันเวลาออกตรวจ : วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 2, 4 เวลา 09.00 – 20.00 น. วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 1, 3, 5 เวลา 09.00 -18.00 น. วันอังคาร 09.00 – 15.00 น. วันพุธ เวลา 09.00 – 18.00 น. วันพฤหัสบดี 09.00 – 20.00 น. วันศุกร์ 08.00 – 18.00 น.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และทำนัดหมาย : โรงพยาบาลเอกชัย คลินิกประสาทและสมอง ศูนย์อายุรกรรม โทร.1715 หรือ 034-417-999 ต่อ 110, 111 เปิดทำการทุกวันเวลา 07:00 น. ถึงเวลา 20:00 น.