การฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรงภาษาแพทย์ เรียกสั้นๆ ว่า IUI ย่อมาจาก Intra-Uterine insemination เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่เป็นที่นิยมกันมีความใกล้เคียงกับขั้นตอนการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ เป็นวิธีที่ง่าย ที่จะทำให้ผู้มีบุตรยากมีโอกาสตั้งครรภ์ได้
การเตรียมตัวก่อนมาทำ IUI
คู่สามีภรรยาควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง งดเหล้า บุหรี่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบายไม่เครียด ฝ่ายสามีงดการมีเพศสัมพันธ์ หรืองดการหลั่งเชื้ออสุจิก่อนเก็บน้ำเชื้อ 3-5 วัน เพื่อจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในการตรวจ
ฝ่ายภรรยาแนะนำจดประเมินวันมีรอบเดือนในแต่ละเดือนมาก่อนเพื่อจะทำให้สามารถประมวลในเรื่องของประวัติ แพทย์จะสรุปการรักษาได้ง่ายขึ้น และควรมาพบแพทย์ในวันที่ 1-3 ของการมีประจำเดือน เพื่อแพทย์จะได้ประเมินการรักษาได้
ขั้นตอนการทำ IUI แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 แพทย์ทำการรักษาภรรยาก่อนโดยจะกระตุ้นฟองไข่ให้มีจำนวนและขนาดที่เหมาะสมเพื่อให้พร้อมสำหรับการมาผสมกับตัวอสุจิส่วนสามีแพทย์จะให้เก็บน้ำเชื้ออสุจิ เพื่อตรวจดูความสมบูรณ์และปริมาณที่เหมาะสม
ขั้นตอนที่ 2 แพทย์จะนัดภรรยามาในวันที่ฟองไข่เติบโตสมบูรณ์เพื่อมาอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอดดูว่าฟองไข่นั้นมีขนาดและจำนวนฟองไข่เหมาะสมหรือไม่ถ้าทุกอย่างเหมาะสมแพทย์จะทำการฉีดยาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตกไข่
ขั้นตอนที่ 3 แพทย์จะนัดคู่สามี ภรรยามาในวันที่ไข่ตกพอดี จะให้สามีจะทำการเก็บเชื้ออสุจิ และนำไปปั่นโดยวิธีพิเศษ แล้วนำน้ำเชื้ออสุจิฉีดเข้าไปสู่โพรงมดลูกตัวเชื้ออสุจิที่ฉีดเข้าไปก็จะทำการปฏิสนธิกับตัวไข่ที่ตกออกมาพอดีทำให้เกิดการผสมเป็นตัวอ่อนและฝังตัวที่ผนังมดลูกเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น
คำแนะนำหลังทำ IUI
- สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ
- สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
- หากมีอาการปวดท้องน้อย หรือมีเลือดออกเล็กน้อย สามารถทานยาแก้ปวดได้ หากมีไข้ร่วมด้วยแนะนำมาปรึกษาแพทย์
ข้อห้ามในการทำ IUI
ฝ่ายภรรยาที่ท่อนำไข่มีความผิดปกติหรือมีการตันทั้งสองข้างหรือ ฝ่ายสามีมีปริมาณอสุจิตัววิ่งน้อยกว่า 10 ล้านตัว ไม่แนะนำให้ทำ IUI แพทย์อาจแนะนำให้ทำเด็กหลอดแก้ว(IVF) แทน
ควรทำ IUI เมื่อไหร่ดี
- ฝ่ายภรรยาที่อายุน้อยกว่า 35 ปีถ้าอยู่ด้วยกันระหว่างคู่สามีภรรยาไม่ได้คุมกำเนิดเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้วยังไม่ตั้งครรภ์ก็ต้องสงสัยแล้วว่าเรามีภาวะมีบุตรยากแนะนำว่าควรจะมาปรึกษาแพทย์
- ฝ่ายภรรยาอายุมากกว่า 35 ปีหรือมีความเสี่ยงที่จะทำให้มีภาวะมีบุตรยากเช่นมีปัญหาเรื่องของเกี่ยวกับประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอปวดท้องประจำเดือนมาก หรือมีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่กลุ่มนี้ถ้าปล่อยมีลูกมากกว่า 6 เดือนและยังไม่เกิดการตั้งครรภ์ควรมาปรึกษาแพทย์ เพื่อมาทำการรักษา
ความสำเร็จจากการทำ IUI
ยิ่งมาปรึกษาได้เร็ว อายุที่ไม่มากโอกาสความสำเร็จก็จะยิ่งมีมากขึ้นดังนั้นถ้าเกิดว่าเราสงสัยว่าเรามีภาวะผู้มีบุตรยากแนะนำให้รีบมาปรึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จให้มากขึ้นโดยทั่วไปโอกาสความสำเร็จจนเกิดการตั้งครรภ์จากการทำ IUI หนึ่งรอบอยู่ประมาณเฉลี่ยที่ 10-15%
อย่างไรก็ดีแนะนำคู่สามีภรรยาพบแพทย์เพื่อประเมินว่าในแต่ละคู่เหมาะสมกับการทำ IUI หรือไม่การตรวจประเมินฝ่ายหญิงว่ามีปัญหาเรื่องของเกี่ยวกับโครงสร้าง เรื่องของมดลูกรังไข่ หรือท่อนำไข่หรือไม่ส่วนในกรณีของฝ่ายชายประเมินดูว่าตัวอสุจิ มีมากเพียงพอและก็มีคุณภาพเพียงพอ ในกรณีที่ไม่มีปัญหาก็สามารถเข้าสู่กระบวนการ IUI ได้
ข้อมูลโดย
พญ.กิ่งแก้ว มิ่งสุทธิพร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาผู้มีบุตรยากประจำ รพ.เอกชัย
ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก และ วินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อน
สามารถชมวิดีโอของศูนย์ผู้มีบุตรยากได้ตามรายการ
- การทำเด็กหลอดแก้วและรักษาภาวะการมีบุตรยาก IVF https://youtu.be/Ru6LvNNpTIA
- ศูนย์การให้คำปรึกษาสำหรับผู้มีบุตรยาก (EKI-IVF Fertility & Genetic Center) https://youtu.be/COX6Pl5233k
- IUI…สเต็ปแรกสำหรับผู้มีบุตรยาก https://youtu.be/fBW4iYCV5jc
- IVF & ICSI ทางออกสุดท้ายของผู้มีบุตรยาก https://youtu.be/OXNNb54CPsM