ความเสี่ยงการเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจในคนวัยต่าง ๆ (Heart Disease)
คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่าการเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจมักเกิดขึ้นในคนสูงอายุ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัย เพียงแต่สาเหตุนั้นอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุเท่านั้นเอง
สาเหตุการเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจอาจแบ่งคร่าวๆ เป็น 2 กลุ่มใหญ่
- โรคทางพันธุกรรมซึ่งโรคกลุ่มนี้จะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและทำให้เสียชีวิต
- โรคที่เกิดจากความเสื่อมของหลอดเลือดกลุ่มนี้จะทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและเสียชีวิตตามมา
ในกลุ่มคนไข้อายุน้อยการเสียชีวิตมักเกิดจากโรคทางพันธุกรรมมากกว่าจะเกิดจากโรคของความเสื่อมของหลอดเลือด กลับกันในคนไข้ที่อายุมากขึ้นการเสียชีวิตจากโรคหัวใจก็จะเกิดจากโรคของความเสื่อมของหลอดเลือดมากกว่าจะเป็นโรคจากทางพันธุกรรม
โรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตนั้นบางส่วนสามารถสืบค้นได้จากประวัติ เช่นใจสั่น หน้ามืด หมดสติ ประวัติครอบครัว เช่นภาวะไหลตายหรือการเสียชีวิตเฉียบพลันตั้งแต่อายุยังน้อยของบุคคลในครอบครัว และลักษณะบางอย่างในคลื่นไฟฟ้าหัวใจแต่บางส่วนก็อาจจะไม่มีประวัติ อาการหรือลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติใดๆ นำมาก่อนได้
ส่วนโรคหัวใจที่เกิดจากความเสื่อมของหลอดเลือดนั้นคนไข้กลุ่มนี้ส่วนหนึ่งมักมีประวัติและปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่พอจะสืบค้นได้ เช่นอาการเจ็บแน่นหน้าอกเวลาออกแรง อาการเจ็บหน้าอกเป็นๆหายๆ ประวัติสูบบุหรี่มานาน ประวัติโรคประจำตัวเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันโลหิตสูง หรืออาจมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจขาดเลือดตั้งแต่อายุยังน้อยแต่ก็จะมีคนไข้บางส่วนที่ไม่มีประวัติเหล่านี้ หรือไม่พบปัจจัยเสี่ยงใดๆชัดเจน
บทความโดยคุณหมอวัฒนา ลัภทลาภลอย อายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลเอกชัย
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ที่ศูนย์อายุรกรรม โทร.034-417999 สายด่วน 1715 ต่อ 110, 111