3 โรคผิวหนังที่พบบ่อยในฤดูฝน
- ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลง
- โรคเชื้อราที่ผิวหนัง
- โรคเท้าเหม็น
1.ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลง
1.1 ตุ่มแมลงกัด (Insect bite)
ลักษณะ : เป็นผื่น ตุ่มแดง หรือตุ่มที่มีลักษณะคล้ายลมพิษจากแมลง เช่น มด ยุง หมัด ไร มีอาการคัน ควรหลีกเลี่ยงการเกา เนื่องจากอาจทำให้เกิดแผลและมีการติดเชื้อตามมาได้
การป้องกัน : ควรสวมเสื้อผ้าที่ปกปิด และกำจัดแมลงบริเวณที่อยู่อาศัย
1.2 ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก (Paederus dermatitis)
ด้วงก้นกระดก – แมลงก้นกระดก – แมลงเฟรชชี่ (Rove Beetles) สารพิษของแมลงชนิดนี้ คือ เพเดอริน (Pederin) ซึ่งหากสัมผัสโดนจะเกิดการอักเสบระคายเคืองอย่างรุนแรง
ลักษณะ : เป็นผื่นมักจะขึ้นหลังสัมผัสสารพิษประมาณ 24 ชั่วโมง มีลักษณะเป็นผื่นแดงขอบชัด อาจมีรอยไหม้เป็นทางยาวได้ ซึ่งเป็นรอยที่เกิดจากการปัดแมลง และอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
การป้องกัน : เมื่อเจอแมลงก้นกระดก ไม่แนะนำให้บี้หรือสัมผัสโดยตรง อาจใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยในการจับตัวแมลง หลีกเลี่ยงการสัมผัส
2.โรคเชื้อราที่ผิวหนัง
2.1 โรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor)
ลักษณะ : เป็นผื่นวงกลม หลายวง มีขอบที่ชัดเจน สามารถเป็นได้หลายสี (สีขาว , สีชมพู , สีแดง และน้ำตาล) ขึ้นอยู่กับสีผิวของผู้ป่วย มักพบบริเวณหน้าอก หลัง คอ พบได้บ่อยในผู้ที่มีเหงื่อออกมาก หรือใส่เสื้อผ้าอับชื้น
การป้องกัน : อาบน้ำให้สะอาด ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัวหรือเสื้อผ้าที่อับชื้น
2.2 โรคกลาก (Tinea)
ลักษณะ : เป็นผื่นวงกลมมีสีแดงนูน ขอบชัดและมีขุยที่ขอบ มักมีอาการคันร่วมด้วย และหากมีอาการอักเสบรุนแรง สามารถเป็นตุ่มหนองได้ มักพบบริเวณ ลำตัว ใบหน้า ขาหนีบ มือและเท้า
การป้องกัน : ติดต่อทางการสัมผัส โดยขึ้นกับชนิดและแหล่งของเชื้อรา เช่น ติดจากคน สัตว์ หรือสิ่งแวดล้อม
2.3 โรคเชื้อราแคนดิดาที่ผิวหนัง (Cutaneous candidiasis)
ลักษณะ : เป็นผื่นปื้นแดงขนาดใหญ่ ขอบชัดเจน มีอาการคัน ผิวหนังเปื่อย และมีตุ่มแดงเล็ก ๆ กระจายอยู่รอบ ๆ มักพบบริเวณซอกพับที่มีการอับชื้น เช่น รักแร้ ใต้ราวนมและขาหนีบ พบได้เยอะในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ภาวะอ้วน และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
การป้องกัน : รักษาความสะอาด คอยซับเหงื่อให้แห้งอยู่เสมอ จะทำให้ช่วยลดความอับชื้น
2.4 โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot) หรือ “ฮ่องกงฟุต”
ลักษณะ : เป็นผื่นบริเวณง่ามนิ้วเท้า มีลักษณะเป็นสีขาว ยุ่ย ลอก หรือแตกเป็นแผลได้ มีอาการคัน และอาจมีกลิ่นเหม็นที่บริเวณเท้า ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำท่วมขัง
การป้องกัน : หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำขัง หากจำเป็นให้ใส่รองเท้าบูท ล้างเท้าให้สะอาด และเช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอ
3.โรคเท้าเหม็น (Pitted keratolysis)
ลักษณะ : มักพบในคนที่ต้องใส่รองเท้าบูท รองเท้าคอมแบท รองเท้ากีฬาเป็นเวลานาน ๆ และคนที่มีเหงื่อออกเยอะบริเวณเท้า เมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีหลุมบริเวณฝ่าเท้า หรือนิ้วเท้า ทำให้มีกลิ่นเท้า กลิ่นเหม็น
การป้องกัน : เปลี่ยนรองเท้าและถุงเท้าบ่อย ๆ ทำความสะอาดรองเท้าเป็นประจำ อย่าให้เกิดการอับชื้น
ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์ผิวหนังและความงาม
โทร.034-417-999 ต่อ 9135
นายแพทย์วัฒนวงศ์ สัตยานุรักษ์ เฉพาะทางด้านตจวิทยา (โรคผิวหนัง)