9 เดือน แห่งความมหัศจรรย์ที่คุณจะได้สัมผัส
เดือนที่ 1
เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 1 เดือน ลูกน้อยจะเริ่มสร้างอวัยวะต่างๆ แล้วกล่าวคือ 2 สัปดาห์หลังปฏิสนธิ ลำตัวก็จะมีลักษณะคล้ายลูกอ๊อดซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะพัฒนาไปเป็นส่วนหลังและไขสันหลัง สัปดาห์ที่ 4 หัวใจก็เริ่มมีการพัฒนา บ่งบอกถึงการอุบัติขึ้นของอีกชีวิตหนึ่งบนโลกใบนี้ ลูกน้อยในช่วงนี้จะเริ่มสร้างอวัยวะสำคัญต่างๆ จึงเป็นช่วงที่คุณแม่ต้องเอาใจใส่ดูแลร่างกายอย่างที่ดีที่สุด ทั้งเรื่องอาหารการกิน ยา และสารเคมีอันตรายทุกชนิด
เดือนที่ 2
ศีรษะของลูกน้อยจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สมองเติบโดและมีพัฒนาการมากกว่าอวัยวะอื่นๆ เริ่มมีการตอบสนองต่อการกระตุ้นต่างๆประสาทเริ่มเชื่อมโยงถึงกันเหมือนระบบสายไฟฟ้า เพื่อพัฒนาเป็นระบบประสาทที่ซับซ้อนขึ้น อวัยวะสำคัญต่างๆ เริ่มสร้างจนเกือบครบหัวใจมีโครงสร้างสมบูรณ์ สามารถอัลตร้าซาวด์เห็นการเต้นของหัวใจได้ ช่วงนี้คุณแม่ควรได้รับสารอาหารต่างๆ อย่างเพียงพอ เพื่อให้ทันกับการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของลูกในครรภ์
เดือนที่ 3
เป็นช่วงที่อวัยวะสำคัญทั้งหมดของลูกสร้างครบสมบูรณ์หมดแล้วมีซี่โครงและกระดูกที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน และเริ่มมีแคลเซียมมาสะสมอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดเป็นกระดูกแข็ง อวัยวะเพศเริ่มแยกได้ชัดเจนขึ้นเริ่มตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก ลูกสามารถดิ้นไปมาได้ตลอดเวลาแต่คุณแม่อาจจะยังไม่รู้สึก
เดือนที่ 4
ลูกน้อยเติบโตอย่างสม่ำเสมอ ส่วนขายาวกว่าแขน โครงกระดูกหนาแน่นขึ้น มีแคลเซียมมาเกาะมากขึ้น เริ่มได้ยินเสียงพูดและเสียงหัวใจของคุณแม่ อวัยวะเพศภายนอกบ่งบอกเพศได้ชัดเจนขึ้น ในเดือนนี้จำนวนของเซลล์ประสาทจะเพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวนของผู้ใหญ่ และมีการเชื่อมโยงระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้ลูกสามารถเคลื่อนไหวแขนขาได้
เดือนที่ 5
ลูกจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อัตราการเจริญเติบโตจะช้าลงกว่าช่วงแรกๆ อวัยวะต่างๆ พัฒนาสมบูรณ์ขึ้น ระบบประสาทเริ่มสมบูรณ์จนสามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆ ได้ดี สามารถดิ้น ยืดตัว พลิกตัวได้ดีขึ้น สามารถรับรู้แรงสัมผัสที่ผ่านจากหน้าท้องของคุณแม่ สามารถเคลื่อนไหวไปมาได้ สามารถรับรู้รส แยกรสหวานและขมได้ เริ่มมีฟันน้ำนมเกิดขึ้นภายในเหงือก รวมทั้งมีการสร้างระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย
เดือนที่ 6
ลูกแข็งแรงมากขึ้น ตัวยาวขึ้น เริ่มได้สัดส่วนกับหัวมากขึ้นน้ำหนักเพิ่มขึ้น แขนขามีกล้ามเนื้อที่สมบูรณ์ ความยาวของขาได้สัดส่วนกับลำตัว เซลล์สมองที่ทำหน้าที่จดจำเริ่มทำหน้าที่ ทำให้ลูกมีความสามารถในการจดจำ และเรียนรู้ได้แล้ว ลูกจึงสามารถจดจำเสียงของคุณพ่อและคุณแม่ที่พูดกับเขาบ่อยๆได้
เดือนที่ 7
ระบบประสาทจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สมองจะโตขึ้นจนเต็มภายในกะโหลกศรีษะ และร่องบนเนื้อสมองเพื่อเพิ่มเนื้อที่ในการเก็บข้อมูลมากขึ้น เซลล์สมองและวงจรของระบบประสาทจะประสานกันอย่างสมบูรณ์ และตื่นตัวเต็มที่ ลูกจะสื่อความต้องการ และความรู้สึกตอบโต้คุณแม่ได้ด้วยการดิ้นและเตะ ลูกจะเตะและดิ้นแรง หากมีเสียงดัง หรือเวลาหิว และเคลื่อนไหวเมื่อได้ยินเสียงดนตรี
เดือนที่ 8
ทารกมีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 1,600 – 2,000 กรัม อวัยวะต่างๆ ของลูกสมบูรณ์เกือบหมด ยกเว้นปอดซึ่งยังพัฒนาไม่เต็มที่ เซลล์สมองและวงจรของระบบประสาทประสานกันอย่างสมบูรณ์ กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น สามารถเคลื่อนไหวอยู่ภายในครรภ์ได้อย่างคล่องแคล่ว ลูกเริ่มพัฒนาความสามารถในการมองเห็น รู้ม่านตาสามารถขยายและหรี่ได้ สามารถกระพริบตาได้เพ่งมองสิ่งต่างๆ ในถึงน้ำคร่ำได้ สามารถปรับภาพให้คมชัดได้ในระยะใกล้ๆ มีการฝึกกลืนและดูด ในกรณีที่เป็นเด็กผู้ชาย ลูกอัณฑะจะลงไปที่ถุงอัณฑะแล้ว
เดือนที่ 9
ลูกโตขึ้นและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ทำให้คุณแม่มีความรู้สึกถ่วงในอุ้งเชิงกรานมากขึ้น ยิ่งช่วงท้ายๆ ใกล้คลอด เมื่อลูกเริ่มกลับเอาหัวลงสู่อุ้งเชิงกรานก็ยิ่งทำให้มีอาการปวดถ่วงมากขึ้นอีก เดือนสุดท้ายนี้ลูกจะมีไขมันใต้ผิวหนังสะสมมากขึ้นจนอ้วนเต็มพื้นที่ในมดลูกปอดเกือบสมบูรณ์เต็มที่ มีการเคลื่อนไหวของทรวงอก เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการหายใจ ขณะอยู่ในครรภ์ภูมิต้านทานโรคของลูกยังไม่ทำงานต้องอาศัยภูมิต้านทานจากคุณแม่ผ่านทางรกไปก่อน แต่หลังคลอดภูมิต้านทานนี้จะลดน้อยลงเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิต้านทานสำหรับโรคบางอย่างทันทีที่ลูกคลอดออกมา
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์สูติ-นรีเวช และผู้มีบุตรยาก
โทร. (034) 417-999 ต่อ 221, 222 สายด่วน 1715