ข้อสังเกตในทารกแรกเกิด

  1. ทารกได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีมี่ต้นขาข้างซ้าย และวิตามินเคป้องกันเลือดออกในสมองที่ต้นขาข้างขวา
  2. ทารกได้รับวัคซีนบีซีจี (BCG) ป้องกันวัณโรคที่หัวไหล่ซ้าย 3 – 4 สัปดาห์จะมีตุ่มแดงหรือตุ่มหนองขึ้นอาจจะแตกได้ให้เช็ดด้วยสำลีชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วทุกครั้งหลังอาบน้ำ และตุ่มจะยุบเอง ภายใน 3 – 6 สัปดาห์
  3. ทารกจะเริ่มตัวเหลืองเมื่อ 2-3 วัน และหายไปเมื่ออายุ 1 สัปดาห์ แต่ถ้ายังเหลืองมากขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าผิดปกติ ให้มาพบแพทย์ทันที
  4. อาการผิดปกติอื่นๆ ที่ต้องมาพบแพทย์
    1. ซึมลง ไม่ร้อง ดูดนมได้น้อยหรือดูดนมแล้วเขียว สำลัก
    2. ปัสสาวะสีเข้มจนเป็นสีชา
    3. กระตุก เกร็ง ชัก
  5. ทารกจะถ่ายอุจจาระบ่อย 6 – 8 ครั้งต่อวัน ลักษณะเป็นน้ำปนเนื้อ โดยเฉพาะทารกที่ได้รับนมแม่

การดูแลสายสะดือ

  1. เช็ดสายสะดือ ทำได้โดยดึงสายสะดือยกขึ้น และใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% เช็ดจากโคนสะดือมาถึงปลายโดยเช็ดเป็นทางเดียวรอบสะดือ
  2. เช็ดสะดืออย่างน้อยวันละ 2 – 3 ครั้ง หรือหลังอาบน้ำจนกว่าสะดือจะหลุด และเช็ดไปจนสะดือจะปิด
  3. สายสะดือจะหลุดประมาณ 1 – 2 สัปดาห์หลังคลอด

การปฏิบัติตนเมื่อให้นมลูก

  1. ก่อนและหลังให้นมใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วเช็ดหัวนมให้สะอาด
  2. ให้ลูกดูดนมตามที่ต้องการ ข้างละประมาณ 15 – 30 นาที
  3. ควรอุ้มให้ลูกอยู่ในระดับเดียวกับหน้าอกมารดาโดยเต้านมจะอยู่ที่แก้มทารกพอดีแล้วตะแคงตัวลูกเข้าหาหน้าอกมารดา และใช้มืออีกข้างประคองเต้านมอาจใช้หมอนรองใต้แขนเพื่อไม่ให้เมื่อย
  4. หลังป้อนนมแล้วทำความสะอาดมุมปากและแก้มทั้ง 2 ข้างให้สะอาด

การดูแลความสะอาดทั่วไปของทารก

  1. ตา ถ้ามีขี้ตา เช็ดด้วยสำลีชุบน้ำต้มสุกที่เย็นจากหัวตาไปหางตา
  2. จมูกใช้ไม้พันสำลีขนาดพอเหมาะชุบน้ำอุ่นต้มสุกเช็ดรอบๆ โพรงจมูกอย่างระมัดระวัง
  3. บริเวณก้น ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้งที่ทารกขับถ่าย ใช้สำลีชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดก้นให้สะอาด หรือทาด้วยวาสลีนก่อนใส่ผ้าอ้อมใหม่
  4. ควรอาบน้ำและสระผมให้ทารกทุกวัน เลือกเวลาที่อากาศไม่เย็นจัด ลมไม่โกรก และน้ำอุ่นพอเหมาะ
  5. ใส่เสื้อผ้าที่เหมาะกับสภาพอากาศ ดูแลให้สะอาด และแห้งเสมอ

วิธีชงนมผสม

  1. อัตราส่วนในการชงนมควรดูที่ฉลากข้างกระป๋อง
  2. ใช้น้ำต้มสุกที่เย็นแล้วในการชงนม เพื่อรักษาสารอาหารในนม
  3. ผสมนมโดยการจับขวดแล้วหมุนมือเป็นวงกลม เหมือนเอาขวดนมแกว่งน้ำเพื่อจะทำให้เกิดฟองอากาศน้อย ช่วยลดปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการท้องอืด
  4. ชงนมมื้อละ 2-3 ออนซ์ ทุก 3-4 ชั่วโมง และปรับตามความต้องการของทารก
  5. นมที่ชงแล้วในอุณหภูมิปกติจะหมดอายุภายใน 3 – 4 ชั่วโมง
  6. นมผสมที่เหลือในแต่ละมื้อ ไม่ควรนำมาป้อนทารกอีก

วิธีป้อนนมผสม

  1. ก่อนให้นมลูกควรสะบัดนมให้หยดบนหลังมือ เมื่อรู้สึกอุ่นจึงจะป้อนนมให้ลูกได้
  2. ใช้นิ้วเขี่ยกระพุ้งแก้มเบาๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกดูดนม
  3. ขณะป้อนให้นมท่วมจุกนมเสมอ เพื่อป้องกันอาการท้องอืด
  4. กระตุ้นลูกดูดนม โดยหมุนขวดนมไปมาเบาๆ
  5. หลังป้อนนมผสม ให้ป้อนน้ำตามทุกครั้ง เพื่อป้องกันลิ้นเป็นฝ้า
  6. เมื่อป้อนนมเสร็จจับลูกให้เรอทุกครั้ง โดยอุ้มพาดบ่าและลูบหลัง
  7. ให้ลูกนอนหัวสูงประมาณ 45 องศา หลังให้นม เพื่อป้องกันการสำรอกและสำลักเข้าปอด

การทำความสะอาดขวดนม

  1. ล้างด้วยผลิตภัณฑ์ล้างขวดนมและล้างออกด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด
  2. ต้มขวดนมที่ล้างแล้ว นาน 15 – 20 นาที หลังน้ำเดือด
  3. กรณีนึ่งขวดนม ควรใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาที

ข้อแนะนำในการจัดเก็บนมแม่

  1. บีบนมทิ้ง 3 ครั้ง ก่อนบีบเก็บ และเก็บในภาชนะปลอดเชื้อ
  2. ติดป้ายที่ภาชนะ เขียนวันที่ เวลา และปริมาณที่เก็บ
  3. ควรใช้น้ำนมที่บีบเก็บครั้งแรกก่อนเสมอ
  4. วิธีเก็บ
    • อุณหภูมิห้อง น้อยกว่า 25 องศา เก็บได้นาน 4 ชั่วโมง
    • อุณหภูมิห้อง มากกว่า 25 องศา เก็บได้นาน 1 ชั่วโมง
    • ชั้นแรกใต้ช่องแช่แข็งอุณหภูมิ 4 องศา เก็บได้ 5 วัน
    • ช่องแช่แข็งตู้เย็น 1 ประตู อุณหภูมิไม่คงที่ เก็บได้ 2 สัปดาห์
    • ช่องแช่แข็งตู้เย็น 2 ประตู อุณหภูมิ -14 องศา เก็บได้ 3 เดือน
    • ช่องแช่แข็งตู้เย็นจัดพิเศษ อุณหภูมิ – 20 องศา เก็บได้นาน 6 เดือน
  5. การละลายนมแช่แข็ง ให้นำออกจากช่องแช่แข็งทิ้งไว้ในช่องธรรมดา 1 คืน เพื่อให้นมค่อยๆ ละลายจนหมด จากนั้นนำมาอุ่นโดยแกว่งภาชนะที่บรรจุนมในน้ำอุ่นจัดอย่างช้าๆ ไม่ควรอุ่นหรือละลายในไมโครเวฟ
  6. น้ำนมที่ละลายแล้วให้ใช้ภายใน 24 ชั่วโมง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แผนกทารกแรกเกิด
โทร. (034) 417-999 ต่อ 306 สายด่วน 1715