การนอนหลับ ถือเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดและสำคัญที่สุดของเราทุกคน ทั้งยังมีผลอย่างมากต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันของเรา
การนอนแบ่งออกเป็น 2 วงจร
- Non-Rem Sleep หรือ Non-Rapid Eye Movement Sleep คือ ช่วงของการหลับตื้นไปจนถึงหลับลึก โดยจะแบ่งย่อยออกได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1 เป็นช่วงเริ่มต้นของการนอนหลับ มักเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ ในระยะนี้ สมอง การหายใจ และอัตราการเต้นของหัวใจจะทำงานช้าลง เป็นระยะที่ตื่นได้ง่าย บางคนอาจมีอาการนอนกระตุก หรือรู้สึกเหมือนกำลังจะตกจากที่สูง แล้วสะดุ้งตื่นขึ้นมาในระยะนี้ได้
- ระยะที่ 2 เป็นช่วงกลางก่อนจะไปสู่ระยะหลับลึก ระยะนี้อุณหภูมิของร่างกายจะลดลง อัตราการเต้นหัวใจ คลื่นสมอง การหายใจจะช้าลง และดวงตาเริ่มหยุดการเคลื่อนไหว
- ระยะที่ 3 เป็นระยะหลับลึก ในระยะนี้คลื่นสมองจะมีความถี่ต่ำและช้ามาก ดวงตาไม่มีการขยับ ร่างกายจะตอบสนองต่อสิ่งรบกวนภายนอกได้น้อย ทำให้ตื่นยาก การนอนหลับในระยะที่ 3 จะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูเนื้อเยื่อ กระดูก กล้ามเนื้อ และช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้
- Rem Sleep หรือ Rapid Eye Movement Sleep คือ ช่วงที่การทำงานของสมองจะตื่นตัวขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น การหายใจเร็วขึ้น และดวงตามีการเคลื่อนไหวแม้ว่ายังหลับตาอยู่ เป็นช่วงที่ร่างกายจะฝันมากกว่าการนอนหลับในช่วงอื่นๆ
ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ในหนึ่งคืนจะเกิดวงจรการนอนอยู่ที่ประมาณ 4 – 5 รอบ หากร่างกายสามารถนอนหลับได้ครบรอบของวงจรการนอนนี้ จะทำให้เราตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่นและไม่รู้สึกอ่อนเพลีย แต่ในทางกลับกันหากเราตื่นขึ้นมาระหว่างที่การนอนยังไม่ครบรอบของวงจรการนอน จะทำให้ร่างกายรู้สึกหงุดหงิดและอ่อนเพลียมาก โดยเฉพาะการตื่นขึ้นมาในระยะการหลับลึก
ถึงแม้ว่าการนอนให้ครบรอบวงจรการนอนหลับจะช่วยทำให้หลับได้เต็มอิ่มมากขึ้น แต่วงจรการนอนหลับก็ถือเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก อีกทั้งยังมีปัจจัยด้านอายุ พฤติกรรมการใช้ชีวิต และความผิดปกติด้านการนอนหลับ เช่น นอนหลับยาก นอนกรน นอนหลับๆ ตื่นๆ และนอนหลับไม่สนิท เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้หลายคนๆ ไม่สามารถนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งยังสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมาในระยะยาวได้ อาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับเหล่านี้ สามารถรักษาได้แต่เราควรที่จะต้องตรวจสอบสาเหตุว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและแม่นยำที่สุด
การตรวจการนอนหลับ (Sleep test) คืออะไร?
การตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep test คือ การตรวจสำคัญที่ใช้เพื่อวิเคราะห์การทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายระหว่างการนอนหลับ เช่น ระบบการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานของคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และกล้ามเนื้อ รวมถึงศึกษาพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับด้วย เช่น การนอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)
- ผู้ที่นอนกรนเสียงดังมากผิดปกติ
- ผู้ที่มีอาการง่วงในช่วงกลางวันมากผิดปกติ หรือรู้สึกนอนไม่อิ่ม รู้สึกไม่สดชื่น ร่วมกับมีอาการรู้สึกอ่อนแรง เหนื่อยล้า แม้ว่าจะนอนหลับในเวลากลางคืนอย่างเพียงพอแล้ว
- ผู้ที่มีอาการนอนหลับไม่สนิท หรือหลับไม่ลึก
- ผู้ที่รู้สึกหายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม หรือสงสัยว่าอาจหยุดหายใจขณะหลับ
- ผู้ที่มักมีอาการสะดุ้งตื่นกลางดึกหรือระหว่างการนอน
- ผู้ที่มีพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ เช่น นอนกัดฟัน นอนละเมอ เดินละเมอ แขนหรือขากระตุกระหว่างการนอนหลับ ปัสสาวะรดที่นอน นอนฝันร้าย ผวาตื่นกลางดึกเป็นประจำ
- ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับเป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงในการขาดออกซิเจนขณะหลับ เช่น โรคลมชัก โรคลมบ้าหมู โรคหัวใจ โรคไตวาย โรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และภาวะที่ไม่สามารถขยับร่างกายได้ขณะกำลังตื่น เป็นต้น
- ผู้ที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีภาวะชักขณะหลับ
- ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องใช้สมาธิในการทำงานสูง และผู้ที่มีอาชีพที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น นักบิน กัปตันเดินเรือ พนักงานขับรถไฟ พนักงานขับรถไฟฟ้า คนขับรถบรรทุก เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ
ข้อดีของการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) คืออะไร?
แพทย์สามารถวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรคได้ และสามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับโรคหรือเงื่อนไขเฉพาะบุคคลได้ดีและตรงจุดมากขึ้น เพื่อทำให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยรวม และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตประจำวันและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม: ศูนย์ ตา หู คอ จมูก
โทร. 034-417-999 สายด่วน 1715 ต่อ 277