การฉีดวัคซีน เป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด การฉีดวัคซีนไม่ได้มีเฉพาะในเด็กเท่านั้น สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้แนะนำให้ผู้ใหญ่รับวัคซีนเช่นกัน โดยเฉพาะ ในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้สูงอายุ ผู้หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ
การเตรียมตัวเข้ารับการฉีดวัคซีน
- ดื่มน้ำให้ได้วันละ 2-3 ลิตรก่อนฉีดวัคซีน 3-5 วัน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายมีพลังกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน
- งดออกกำลังกายหนัก ก่อนฉีดวัคซีนประมาณ 3 วัน เพื่อลดการอักเสบ และไม่ใช้ร่างกายหนักจนเกินไป
- แจ้งข้อมูลสุขภาพแก่แพทย์ เช่น โรคประจำตัว ยาที่รับประทานประจำ
- กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด ไอ มีน้ำมูก สามารถรับวัคซีนได้ ถ้ามีไข้สูงหรือเจ็บป่วยหนัก ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อนจนกว่าจะหายดี
การปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีน
- ควรดื่มน้ำวันละ 2-3 ลิตรติดต่อกันอีก 2 สัปดาห์ เพื่อให้มีการไหลเวียนเลือดที่ดี
- งดออกกำลังกายหนักไปอีก 3-4 วัน เพราะฉีดวัคซีนมา เท่ากับร่างกายได้รับเชื้ออ่อนๆ อยู่แล้ว จึงเกิดการอักเสบขึ้น การออกกำลังกายหนัก อาจทำให้กล้ามเนื้ออักเสบเพิ่มขึ้น
- นอนหลักพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้เต็มที่
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารให้เพียงพอ
อาการไม่พึงประสงค์
สามารถพบอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนได้ 2 แบบ คือ อาการเฉพาะที่ เช่นปวด บวม แดง คันบริเวณที่ฉีด และอาการตามระบบ เช่น ไข้ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว โดยทั่วไปมักไม่รุนแรง และหายเองภายใน 2-3 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้ปรึกษาแพทย์
วัคซีนที่แนะนำในผู้ใหญ่
อายุ 15 ปีขึ้นไป – 26 ปี | ||
รายการวัคซีน | การฉีด | รายละเอียด |
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ | ฉีดทุกปี | ป้องกันไข้หวัดใหญ่ |
วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี | ฉีด 3 เข็ม ห่างกัน 0, 1, 6 เดือน | ป้องกันไวรัสตับอักเสบสายพันธุ์บี ที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ |
วัคซีนเอชพีวี 4 สายพันธุ์ | ฉีด 3 เข็ม ห่างกัน 0, 2, 6 เดือน | ป้องกันไวรัส HPV 16, 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกและ 6, 11 สาเหตุหูดหงอนไก่ (อายุ 9 – 45 ปี) |
วัคซีนเอชพีวี 9 สายพันธุ์ | ฉีด 3 เข็ม ห่างกัน 0, 2, 6 เดือน | ป้องกันไวรัส HPV 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกและ 6, 11 สาเหตุหูดหงอนไก่ (อายุ 9 – 45 ปี) |
วัคซีนบาดทะยัก – คอตีบ | กระตุ้น 1 เข็ม ด้วย Td ทุก 10 ปี | ป้องกันโรคคอตีบบาดทะยัก |
วัคซีนบาดทะยัก – คอตีบ – ไอกรน | ฉีด 1 เข็ม | ป้องกันโรคคอตีบบาดทะยัก ไอกรน |
วัคซีนหัด – คางทูม – หัดเยอรมัน | กระตุ้น 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน | ป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน |
วัคซีนนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต 20 สายพันธุ์ (PCV20) | ฉีด 1 เข็ม | ป้องกันโรคปอดอักเสบ |
อายุ 27 ปี – 59 ปี | ||
รายการวัคซีน | การฉีด | รายละเอียด |
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ | ฉีดทุกปี | ป้องกันไข้หวัดใหญ่ |
วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี | ฉีด 3 เข็ม ห่างกัน 0, 1, 6 เดือน | ป้องกันไวรัสตับอักเสบสายพันธุ์บี ที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ |
วัคซีนเอชพีวี 4 สายพันธุ์ | ฉีด 3 เข็ม ห่างกัน 0, 2, 6 เดือน | ป้องกันไวรัส HPV 16, 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกและ 6, 11 สาเหตุหูดหงอนไก่ (อายุ 9 – 45 ปี) |
วัคซีนเอชพีวี 9 สายพันธุ์ | ฉีด 3 เข็ม ห่างกัน 0, 2, 6 เดือน | ป้องกันไวรัส HPV 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกและ 6, 11 สาเหตุหูดหงอนไก่ (อายุ 9 – 45 ปี) |
วัคซีนบาดทะยัก – คอตีบ | กระตุ้น 1 เข็ม ด้วย Td ทุก 10 ปี | ป้องกันโรคคอตีบบาดทะยัก |
วัคซีนบาดทะยัก – คอตีบ – ไอกรน | ฉีด 1 เข็ม | ป้องกันโรคคอตีบบาดทะยัก ไอกรน |
อายุ 60 ปีขึ้นไป | ||
รายการวัคซีน | การฉีด | รายละเอียด |
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ | ฉีดทุกปี | ป้องกันไข้หวัดใหญ่ |
วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี | ฉีด 3 เข็ม ห่างกัน 0, 1, 6 เดือน | ป้องกันไวรัสตับอักเสบสายพันธุ์บี ที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ |
วัคซีนบาดทะยัก – คอตีบ | กระตุ้น 1 เข็ม ด้วย Td ทุก 10 ปี | ป้องกันโรคคอตีบบาดทะยัก |
วัคซีนบาดทะยัก – คอตีบ – ไอกรน | ฉีด 1 เข็ม | ป้องกันโรคคอตีบบาดทะยัก ไอกรน |
วัคซีนงูสวัด | ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 2 – 6 เดือน | ป้องกันการติดเชื้อโรคงูสวัด |
วัคซีนป้องกันโรค (เพิ่มเติม) | ||
รายการวัคซีน | การฉีด | รายละเอียด |
วัคซีนอีสุกอีใส | ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน (ควรตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด) | ป้องกันโรคอีสุกอีใส |
วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ | ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน | ป้องกันไวรัสตับอักเสบสายพันธุ์เอ ที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ |
วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ ชนิดเชื้อเป็น | ฉีด 1 เข็ม | ป้องกันไวรัสตับอักเสบสายพันธุ์เอ ที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ |
วัคซีนพิษสุนัขบ้า | ฉีด 4 เข็ม ทุกวันที่ 0, 3, 7, 21 หรือ 28 เมื่อถูกสัตว์กัด | ป้องกันการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า |
วัคซีนไข้เลือดออก | ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 0, 3 เดือน (อายุ 4 – 60 ปี) | ป้องกันโรคไข้เลือดออก |
วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (CD, JE) | ฉีด 1 เข็ม สำหรับเชื้อเป็น กรณีเชื้อตายฉีด 3 เข็ม 0, 4 สัปดาห์ และ 1 ปี | ป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี |
วัคซีน RSV (Respiratory syncytial virus) | ฉีด 1 เข็ม | ป้องกันโรค RSV เป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง |
วัคซีนสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศ | ||
รายการวัคซีน | การฉีด | รายละเอียด |
วัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ (Typhoid vaccine) | ก่อนเดินทาง 1 เดือน ควรกระตุ้นซ้ำทุก 2 ปี | แนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปประเทศแถบเอเชียใต้ เช่น อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการติดโรคไทฟอยด์ |
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine) | ฉีด 3 เข็ม โดยการฉีดครั้งที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 7 วัน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 14 – 21 วัน | ควรฉีดไว้ เพื่อลดความเสี่ยง สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปในพื้นที่ห่างไกล หรือประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ |
วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A vaccine) | ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6-12 เดือน โดยฉีดเข็มแรกก่อนเดินทาง อย่างน้อย 2 สัปดาห์ | แนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปประเทศกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ ได้แก่ ประเทศในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชียใต้ รวมไปถึงประเทศในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ |
ไวรัสตับอักเสบเอติดต่อผ่านทางการรับประทานอาหารและน้ำดื่มไม่สะอาด มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส | ||
วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal vaccine) | ฉีด 1 เข็ม ภูมิคุ้มกันจะขึ้นหลังฉีด 7-10 วัน ภูมิคุ้มกันที่ฉีดแล้ว อยู่ได้นาน 3-5 ปี | แนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปในทวีปแอฟริกา เช่น ประเทศซูดาน ไนจีเรีย เอธิโอเปีย ฯลฯ |
นักเรียน นักศึกษาไทยที่จะไปศึกษาต่อในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา ก็มีข้อกำหนดให้ต้องรับวัคซีนชนิดนี้ก่อนไป โดยเฉพาะถ้าต้องไปอยู่ในหอพัก | ||
ผู้ที่จะไปแสวงบุญที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยเป็นระเบียบที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า ก่อนเข้าไปแสวงบุญ ทุกคนจำเป็นต้องฉีดวัคซีนนี้ | ||
วัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรค (Cholera vaccine) | รับวัคซีนแบบรับประทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 1-6 สัปดาห์ ก่อนเดินทางอย่างน้อย 2 สัปดาห์ | แนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ หรือเข้าไปทำงานในค่ายอพยพผู้ลี้ภัย หรือเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร |
วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) | ฉีด 1 เข็ม ก่อนเดินทางอย่างน้อย 2 สัปดาห์ | ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สามารถพบได้ทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศยุโรป อเมริกา |
แนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปในที่ชุมชน หรือในสถานที่แออัด ที่มีคนเป็นจำนวนมาก เช่น ผู้ที่จะไปพิธีแสวงบุญ ผู้จะไปชมกีฬา ไปเที่ยวงานเทศกาลต่างๆ ควรพิจารณาฉีดวัคซีนนี้ | ||
วัคซีนรวมคอตีบ – บาดทะยัก – ไอกรน (DTP) | อายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนทุก 5-10 ปี หากได้รับวัคซีน นานกว่า 10 ปี ต้องกระตุ้นใหม่ | ผู้เดินทางทุกคนต้องได้รับวัคซีน DTP สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี และผู้ใหญ่ เมื่อได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม คือเข็มแรกในวันที่สะดวก เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 6 เดือนแล้ว ควรรับการฉีด dT กระตุ้นทุก 10 ปี โดยอาจพิจารณาใช้ Tdap หรือ Tdap-IPV แทน dT ได้หนึ่งครั้ง |
วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (HB) | ฉีด 3 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ต้องฉีดห่างจากเข็มแรก 1 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน | แนะนำให้ฉีด ให้ครบ 3 เข็ม ก่อนการเดินทาง อย่างน้อย 7 วัน แนะนำให้ตรวจหาภูมิก่อนเข้ารับวัคซีน หากตรวจพบว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกันควรรับวัคซีน |
ในกรณีที่ไม่ภูมิคุ้มกัน แต่ต้องเดินทางในระยะเวลาอันใกล้ สามารถฉีดแบบเร่งรัดได้คือ ฉีดเข็มแรกในวันที่สะดวก ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 7 วัน และฉีดเข็ม 3 ห่างจากเข็มแรก 21 วัน ซึ่งการฉีดแบบนี้ จะทำให้สามารถฉีดครบ 3 เข็มได้ภายใน 3 สัปดาห์ แต่การฉีดแบบเร่งรัดนี้ จำเป็นต้องมีการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 4 เมื่อครบ 1 ปี เพื่อทำให้ภูมิคุ้มกันอยู่ได้นาน | ||
วัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) | ฉีด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน และควรฉีดก่อนเดินทางประมาณ 2 สัปดาห์ | หากไม่เคยได้รับวัคซีนดังกล่าว และไม่เคยมีการติดเชื้อตามธรรมชาติ (หรือไม่แน่ใจว่าเคยเป็นมาก่อนหรือไม่) ควรรับการฉีด MMR 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ก่อนการเดินทาง โดยไม่จำเป็นต้องตรวจระดับภูมิคุ้มกันก่อนฉีดวัคซีน |
แนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศกำลังพัฒนา | ||
วัคซีนโปลิโอ (OPV , IPV) | ชนิดรับประทานมี 2 สายพันธุ์ และชนิดฉีดมี 3 สายพันธุ์ | แนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศอัฟกานิสถาน อินเดีย ปากีสถาน ไนจีเรีย แอฟริกา |
ในคนไทยส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนโปลิโอตั้งแต่เด็กตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของกระทรวงสาธารณสุข และเชื่อว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการได้รับวัคซีนจะอยู่ได้ตลอดชีวิต แต่หากจำเป็นต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาดของโรคโปลิโออาจพิจารณารับวัคซีนกระตุ้น 1 ครั้ง | ||
วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) | ฉีด 1 เข็ม สำหรับวัคซีนเชื้อเป็น หรือฉีด 3 เข็ม สำหรับวัคซีนเชื้อตาย | ในคนไทยส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนชนิดนี้แล้ว แต่หากยังไม่เคยฉีด และต้องเดินทางไปต่างประเทศ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน JE แบบเร่งรัด 3 เข็ม คือฉีดเข็มแรกในวันที่สะดวก ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 7 วัน และฉีดเข็ม 3 ห่างจากเข็มแรก 28 วัน หรือฉีดวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อมีชีวิตอ่อนฤทธิ์ CD-JE VaxTM 1 เข็ม ซึ่งวัคซีนดังกล่าวนิยมใช้มากขึ้นในผู้เดินทาง เนื่องจากมีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูง และฉีดเพียง 1 เข็ม สามารถป้องกันโรคได้นาน |
วัคซีนโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัส (Pnc) | ฉีดวัคซีน PCV 13 หลังจากนั้น 1 ปี ฉีด PPSV 23 หรือ ฉีด PCV 20 (1 เข็ม) ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ | นักเดินทางที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ ควรได้รับวัคซีนนิวโมคอคคัสแบบคอนจูเกต (PCV13) 1 เข็ม |
ในกรณีที่ต้องการรับวัคซีนนิวโมคอคคัสแบบโพลีแซคคาไรด์ (PPSV23) ควรได้รับวัคซีนนิวโมคอคคัส23 สายพันธุ์ 1 เข็ม และควรฉีดกระตุ้นทุก 5 ปี | ||
วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง | ฉีด 1 เข็ม ก่อนเดินทาง 10 วัน | ทุกคนที่จะเดินทางไปยังประเทศในแถบแอฟริกา และอเมริกาใต้ โดยต้องถือเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนไปด้วย เพื่อการตรวจคนเข้าเมือง หรือขอวีซ่าเพื่อเข้าประเทศ |
หมายเหตุ :
- องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศ ในแถบแอฟริกา และอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีไข้เหลืองระบาด ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 10 วันก่อนเดินทาง
- นักท่องเที่ยวทุกคน ถ้าจะเดินทางไปบริเวณที่มีคนหนาแน่น ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ก่อนเดินทางอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- ควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคล่วงหน้าตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากเขตพื้นที่ หรือฤดูกาล ของสถานที่ที่กำลังจะเดินทางไป ควรปรึกษาแพทย์อย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ก่อนการเดินทางเพื่อให้ร่างกายมีเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์วัคซีน
โทร.034-417-999 ต่อ 122, 124 สายด่วน 1715