การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ เช่น โรคภูมิแพ้จมูก หอบหืด หรือแพ้อาหาร นอกจากต้องอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายแล้ว ยังมีวิธีการทดสอบอีกหลายวิธีเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา แต่ที่นิยมทำกันมี 2 วิธี คือ

  1. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy skin testing)
  2. การเจาะเลือดหาสารก่อภูมิต้านทานที่จำเพาะกับสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด(Serum Specific IgE)

โดยสามารถแบ่งสารก่อภูมิแพ้ออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. สารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ เช่น ไรฝุ่นบ้าน แมลงสาบ รังแคสุนัขและแมว หญ้าและวัชพืช สปอร์เชื้อรา เป็นต้น
  2. สารก่อภูมิแพ้ในอาหาร เช่น นมวัว ถั่วเหลือง ไข่แดง ไข่ขาว แป้งสาลี อาหารทะเล เป็นต้น

โดยทั่วไปสามารถทดสอบได้ทุกเพศทุกวัย  แต่ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนและในผู้สูงอายุ  อาจให้เป็นผลลบลวงได้เพราะความไวของผิวหนังน้อย

ประโยชน์ของการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้

  1. ทำให้ผู้ป่วยทราบว่าสารก่อภูมิแพ้ชนิดใดเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ เพื่อจะการกำจัดหรือหลีกเลี่ยงได้ตรงชนิด อันนำมาสู่การควบคุมโรคที่ดียิ่งขึ้น
  2. ถ้าจำเป็นต้องรักษาโดยการฉีดหรือกินสารก่อภูมิแพ้ (Immunotherapy) จะได้เลือกฉีดหรือกินได้ตรงชนิด ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลดี

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy Skin Testing)

การทดสอบวิธีนี้หลักๆ จะมี 2 วิธีคือการสะกิดผิวหนัง (Skin Prick Test) และ การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Intradermal Test) ซึ่งวิธีแรกคือการสะกิดผิวหนัง ได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจากทำง่าย เร็ว ไม่เจ็บและใช้อุปกรณ์น้อย เสี่ยงต่อการแพ้แบบรุนแรงน้อย

ขั้นตอนวิธีการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังโดยวิธีสะกิด (Skin Prick Test)

  1. ทำความสะอาดผิวหนังที่จะทดสอบ (ท้องแขนหรือหลัง)
  2. ขีดเส้นแสดงตำแหน่งที่จะทำการทดสอบ
  3. ใช้อุปกรณ์ปลายแหลมซึ่งจุ่มในน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ร่วมกับ Positive control คือ Histamine และ Negative control คือ น้ำเกลือ (NSS) สะกิดเบาๆ ที่ชั้นหนังกำพร้าบริเวณที่จะทำการทดสอบ
  4. อ่านผลที่เวลา 15 นาทีหลังทำการทดสอบ
  5. เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย แนะนำให้นั่งพักรอดูอาการอย่างน้อย 30 นาที หลังการทดสอบ เพื่อสังเกตอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้

หากผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้นั้น ก็จะเกิดปฏิกิริยาขึ้นเป็นรอยนูน (wheal) และรอยแดง (flare) จากนั้นจะวัดขนาดรอยนูนรายงานผลเป็นหน่วย มม.xมม.(mm x mm)

การเตรียมตัว
1. งดยาแก้แพ้ (Antihistamine) และยาบางชนิดอาจมีส่วนผสมของยาแก้แพ้  เช่น  ยาแก้หวัด  ยาลดน้ำมูก  ยาแก้คัน ยาแก้เมารถ ก่อนมารับการทดสอบเฉลี่ยอย่างน้อย 7 วัน
2. ผู้ป่วยที่มีโรคทางจิตเวชหรือผู้ที่กินยากดภูมิสเตียรอยด์ต้องแจ้งชื่อยาที่รับประทานอยู่ให้แพทย์ที่จะทำการทดสอบทราบด้วย  เพราะยาบางชนิดต้องงดก่อนทำการทดสอบ
3. ควรงดยาสเตียรอยด์ชนิดทาผิวหนัง เนื่องจากอาจมีผลกดปฏิกิริยาการทดสอบ
4. ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนมาทดสอบ

การเจาะเลือดหาสารก่อภูมิต้านทานที่จำเพาะกับสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด (Serum Specific IgE)

เป็นการเจาะเลือดประมาณ 3-5 มิลลิลิตร เพื่อหาสารก่อภูมิต้านทานที่จำเพาะกับสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด (Serum Specific IgE)ในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยแพ้สารชนิดใดบ้าง  และแพ้ในระดับมากหรือน้อยเพียงใด  โดยการเจาะเลือดหาค่า IgE จะเหมาะกับผู้ที่เป็นโรคผิวหนังหรือมีปฏิกิริยาแพ้ทางผิวหนังง่าย ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดยาแก้แพ้ก่อนตรวจ รวมถึงยังใช้เวลาไม่นาน เพียงแค่เจาะเลือด 1 ครั้ง ก็สามารถหาสารก่อภูมิแพ้ได้หลายชนิด การทดสอบด้วยการเจาะเลือดจึงนับว่ามีความปลอดภัย และไม่เสี่ยงต่ออาการแพ้แบบรุนแรง แต่อาจรอผลตรวจหลายวัน

Link :

 

 

ข้อดีและข้อเสียเปรียบเทียบระหว่างการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังและการเจาะเลือด

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin prick test) การเจาะเลือดเพื่อหาสารก่อภูมิต้านทาน (Serum Specific IgE)
ข้อดี – ทำได้ง่ายและไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด

– ทราบผลการทดสอบได้เร็ว

– ผลการทดสอบมีความน่าเชื่อถือได้ดี

– ค่าใช้จ่ายถูกกว่า

– ผลการทดสอบมีความน่าเชื่อถือได้ดี

– ไม่ต้องงดยาแก้แพ้

– ในกรณีแพ้รุนแรงก็สามารถทดสอบได้เลย

– ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผื่นแพ้หรืออาการแพ้แบบรุนแรง (anaphylaxis)

ข้อเสีย – ต้องงดยาแก้แพ้และยาอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อการทดสอบ

– ในกรณีแพ้รุนแรงต้องรอทดสอบหลังเกิดอาการประมาณ 4-6 สัปดาห์

– อาจได้รับความเจ็บปวดจากการสะกิดผิวหนังและหรือระคายเคืองหรือคันจากปฏิกิริยาการแพ้นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผื่นแพ้และอาจมีอาการแพ้แบบรุนแรง (anaphylaxis) ได้  #

– อาจจะได้รับความเจ็บปวดมากกว่า

– ต้องรอผลนานประมาณ 2 สัปดาห์

– ค่าใช้จ่ายสูงกว่า

 

หมายเหตุ : # ทางทีมแพทย์และพยาบาลจะสังเกตอาการผู้ทำการทดสอบอย่างใกล้ชิดและให้การรักษาอาการแพ้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ได้เตรียมแผนการดูแลรักษาไว้แล้ว กล่าวคือ

  • สถานที่ที่จะทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง คือ แผนกผู้ป่วยนอกเด็ก โรงพยาบาลเอกชัย โดยจะมีการเตรียมเครื่องมือ # และยาต่างๆ เช่น Adrenaline (ยาหลักที่ใช้รักษาภาวะแพ้รุนแรง) และอุปกรณ์กู้ชีพไว้ทุกครั้ง
  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และจะมีทีมแพทย์และพยาบาลคอยสังเกตและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
  • หากเกิดภาวะแพ้ไม่ว่าจะเป็นแบบรุนแรงหรือไม่รุนแรง จะมีแนวทางปฏิบัติเป็นแบบแผนที่ชัดเจน

 

โดย พญ. กรวิภา กิตตินนท์ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านภูมิแพ้เด็ก

ศูนย์กุมารเวช  อาคารกุมารเวช รพ.เอกชัย โทร.1715 ต่อ 9221, 9222