ภาวะสมองเสื่อมคือ กลุ่มอาการผิดปกติที่เป็นผลมาจากการเสื่อมของสมองหลายส่วนซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เป็นได้จากหลายสาเหตุ 20% เป็นภาวะที่ถ้าตรวจเจอสาเหตุ จะรักษาให้หายขาดได้ แต่อีก 80% เป็นจากสาเหตุที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease)
เป็นภาวะหนึ่งของโรคสมองเสื่อม ที่พบมากถึง 60-80% ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด เกิดจากการที่สมองมีการสร้างโปรตีน เบตา-อะไมลอยด์ (Beta-amyloid) และ เทาโปรตีน (Tau) ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อยๆ ลดลง สูญเสียการทำงาน ความทรงจำเสียหาย และทำลายสมองส่วนอื่นๆ จนเกิดความผิดปกติทางความคิด ภาษา พฤติกรรม และการใช้ชีวิตประจำวัน
อัลไซเมอร์คือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และที่สำคัญเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดของภาวะสมองเสื่อมด้วย
โรคอัลไซเมอร์นี้ มาจากชื่อของจิตแพทย์ท่านหนึ่ง ชื่อ อาลอยซ์ อัลไซเมอร์ (Alois Alzheimer) ที่เป็นผู้คนพบโรคนี้ ซึ่งสาเหตุของโรคเกิดจากการตายของเซลล์สมอง เซลล์สมองของเราทำหน้าที่ในการเรียนรู้จดจำ โดยทำงานผ่านสารสื่อประสาท ซึ่งตัวทีสำคัญเรียกว่า Acetylcholine ซึ่งค้นพบว่า สารนี้มีปริมาณลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับคนทั่วไป ทำให้ไม่สามารถจดจำเรียนรู้ได้
สาเหตุจริงๆ ของการตายของเซลล์สมองยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน แต่พบว่าสัมพันธ์กับการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติ Amyloid plagues ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาที่กำจัดเจ้าสิ่งนี้ออกจากสมองได้
โรคนี้พบบ่อยแค่ไหน
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่า อุบัติการณ์ของโรคอัลไซเมอร์มากขึ้นตามอายุ 1 ใน 8 ของผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี จะเริ่มมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ และเมื่ออายุเพิ่มขึ้นเป็น 85 ปี จะพบโรคนี้ได้ถึง 1ใน 4 ปัจจุบันประมาณการว่า คนไทยมีผู้เป็นอัลไซเมอร์อยู่ราว 8 แสน ถึง 1 ล้านคน ซึ่งจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
ดังนั้น เป็นโรคที่สำคัญมากที่อยู่ไม่ไกลตัวเรา เรียกได้ว่า ในแต่ละวันที่เจอผู้สูงอายุ จะเจอคนเป็นโรคนี้อยู่ด้วยแน่นอน
อัลไซเมอร์เป็นโรคอันตรายไม่ใช่แค่ขี้ลืม
การดำเนินโรคอัลไซเมอร์เป็นอย่างไร
โดยทั่วไป แบ่งง่ายได้เป็น 3 ระยะโรค
- ระยะที่ 1 : ผู้ป่วยจะมีเพียงอาการหลงลืม โดยจะลืมสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น ลืมปิดไฟ ลืมว่าทานข้าวแล้ว ถามซ้ำๆ เช่น ถามว่าทานข้าวหรือยัง อีกไม่นานก็ถามใหม่ พูดซ้ำๆเรื่องเดิม เป็นต้น
- ระยะที่ 2 : อาการหลงลืมเป็นมากขึ้น บางครั้งจำบ้านตัวเองไม่ได้ เดินออกจากบ้านโดยไม่มีจุดหมาย เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยน เช่น ขี้หงุดหงิด พูดจาหยาบคาย เริ่มมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน มีอาการทางประสาทมากขึ้น เช่น กลัวคนมาทำร้าย คิดว่ามีคนมาขโมยของ ซึ่งทำให้การดูแลยากขึ้น
- ระยะที่ 3 : มีอาการรุนแรงขึ้น ไม่สามารถดูแลทำกิจวัตรประจำวันได้
ระยะที่สาม ผู้ป่วยอาการแย่ลงในทุกด้าน ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง สุขภาพทรุดโทรมลงคล้ายผู้ป่วยติดเตียง รับประทานได้น้อยลง แทบจะไม่พูดจา การเคลื่อนไหวน้อยลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เพราะสมองเสื่อมเป็นวงกว้าง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า อาการเริ่มแรกเมื่อเป็นโรคนี้จะมีหลงลืม แต่เมื่อเป็นมากขึ้นๆ จะมีอาการทางจิตใจ หรือพฤติกรรมร่วมด้วย เช่น ซึมเศร้า ก้าวร้าว หวาดระแวง เป็นต้น
โรคนี้เมื่อมีคนในครอบครัวเป็น ย่อมทำให้คนรอบตัวมีความเครียด กดดันในการดูแล เพราะบางครั้งคนไข้จะถามซ้ำๆ หรือทำพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้ผู้ดูแลเกิดความเครียดได้ หรือถ้าหากไม่เข้าใจการดำเนินโรค อาจจะมีการทะเลาะกันในครอบครัว หรือต่อว่าคนไข้ก็มี และเมื่อโรคเป็นรุนแรงขึ้น คนไข้ที่เสียชีวิตจากอัลไซเมอร์ มักเกิดจากภาวะติดเชื้อ ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่แรกจนถึงเสียชีวิตนั้นใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 8-10 ปี ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เป็นโรคที่เมื่อวินิจฉัยแล้ว มีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีโอกาสทำให้เสียชีวิตได้อีกด้วย จึงทำให้การดูแลรักษาโรคนี้ควรมีแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ หรือ แพทย์ระบบสมองที่มีความเข้าใจด้านการดูแลแบบ Palliative care มาเป็นผู้ดูแลร่วมด้วยนั่นเอง
จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมโรคอัลไซเมอร์ จึงเป็นโรคร้ายที่ไม่ใช่มีผลแค่ขี้ลืม ข้อมูลปัจจุบันพบว่าโรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อยอันดับ 5 ในผู้สูงอายุ และเป็นโรคที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต ทั้งของผู้ป่วยและครอบครัว ดังนั้นการดูแลแบบ Palliative care จึงจำเป็นในทุกระยะของโรค เพื่อเป้าหมายคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทั้งคนไข้และครอบครัว
ปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ มีอะไรบ้าง ?
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น มักพบในช่วงวัยอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
- เพศหญิง มีความเสี่ยงมากกว่าเพศชาย
- สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่พบได้ค่อนข้างน้อย
- ผู้ที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรมจำนวนมาก จะพบภาวะโรคอัลไซเมอร์ร่วมด้วย
- ภาวะหูตึง เพราะประสาทหูที่เสื่อม สามารถทำให้สมองถูกกระตุ้นลดลง
- การบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง เช่น เกิดอุบัติเหตุทำให้สมองได้รับการกระทบกระเทือน สลบหรือไม่รู้ตัว
- มีความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง และไม่ได้รับการรักษาควบคุมให้ดี
- ภาวะอ้วนในวัยกลางคนซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงเมื่อมีอายุมากขึ้น
- ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัย
- การใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- การขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ชอบเก็บตัวตามลำพัง
- ผู้ที่ชอบอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ขาดการออกกำลังกาย
- สัมผัสมลพิษทางอากาศ เช่น PM 2.5 ในปริมาณสูง
- การไม่ได้ทำงาน หรือไม่ได้ทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมอง
โรคอัลไซเมอร์ อาการเป็นอย่างไร ?
อาการของโรคอัลไซเมอร์ สามารถแบ่งได้ 3 ระยะ ดังนี้
- ผู้ป่วยจะเริ่มจากมีอาการขี้ลืม ความจำถดถอย ลืมเรื่องที่พึ่งพูดไปหรือเรื่องราวที่พึ่งเกิดขึ้น มีการถามคำถามซ้ำๆ พูดซ้ำๆ ในเรื่องเดิมๆ มีอาการลังเล สับสนทิศทาง เริ่มมีความวิตกกังวลมากขึ้น แต่ยังสามารถสื่อสารและทำกิจวัตรประจำวันได้ ระยะนี้เป็นระยะที่คนรอบข้างยังสามารถดูแลได้
- หากละเลยอาการแสดงในระยะแรกไป ผู้ป่วยจะมีอาการอัลไซเมอร์ชัดเจนมากขึ้น มีปัญหาความจำแย่ลง ไม่สามารถจำชื่อคนรู้จัก ไม่สามารถลำดับเครือญาติได้ ลืมวัน-เวลา ที่พบได้บ่อยคือ หลงทาง ไม่สามารถจำทางกลับบ้านได้ พฤติกรรมเปลี่ยนไปมากขึ้น
- สำหรับความรุนแรงของระยะนี้คือ ทำให้ผู้ป่วยอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย อาจเกิดภาวะซึมเศร้า เช่น จากที่เป็นคนใจเย็นก็กลับกลายเป็นคนขี้หงุดหงิดฉุนเฉียว ก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย หรือจากที่เป็นคนอารมณ์ร้อนก็กลับกลายเป็นเงียบขรึม และเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในด้านการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ชงกาแฟไม่ได้ ใช้รีโมททีวีหรือโทรศัพท์มือถือไม่ได้ คิดอะไรไม่ถูกต้อง เป็นต้น
- ผู้ป่วยจะอาการแย่ลง อาจเกิดภาพหลอน การตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง สุขภาพทรุดโทรมลงคล้ายผู้ป่วยติดเตียง รับประทานได้น้อยลง มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ซึ่งมักจะนำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด
อัลไซเมอร์รักษาอย่างไร ?
เป็นโรคที่เมื่อเป็นแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การพบแต่แรกๆ จะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ ปัจจุบันถือว่ามียาสำหรับเพิ่มสาร Acetylcholine ทำให้ความจำดีขึ้นและลดปัญหาพฤติกรรม ซึ่งทำได้เพียงชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลง นอกจากการใช้ยา ยังมีการทำกิจกรรมหลายๆอย่างเพื่อช่วยฟื้นฟูสุขภาพกายและใจให้แก่คนไข้ ที่ครอบครัวทำได้ เช่น การเล่นเกมส์ฝึกสมองง่ายๆ ถามตอบความรู้ทั่วไป คิดเลข เป็นต้น ทางการแพทย์ทางเลือกที่ช่วยได้ เช่น พบนักกิจกรรมบำบัด พบนักดนตรีบำบัด หรือนักศิลปบำบัด
บทความ : พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร
โทรนัดหมายเพื่อสอบถาม และนัดหมายพบแพทย์ได้ที่คลินิกแพทย์เฉพาะทางดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์