คือ ภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณมุมปาก โดยจะเกิดอาการเจ็บปาก ปากแห้งและแตก เป็นแผล อาจมีรอยแดง บวม และตึงที่มุมปากข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ผู้ป่วยอาจจะเกิดอาการของโรคนี้เพียง 2-3 วัน หรือนานกว่านั้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค

อาการของโรคปากนกกระจอกเป็นอย่างไร ?

สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งข้างเดียวและสองข้าง ซึ่งอาการต่างๆ จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • มีแผลเปื่อยแตกเป็นร่องที่มุมปาก
  • เจ็บ คันระคายเคืองบริเวณมุมปาก
  • เกิดรอยแดงและเลือดออก
  • มีตุ่มพองและอาจมีของเหลวด้านใน
  • เกิดสะเก็ดแผล
  • ปากบวม ลอก แห้ง แตก ตึง

สาเหตุหลักๆ ของการเกิดโรคปากนกกระจอก มีอะไรบ้าง ?

  • ติดเชื้อที่บริเวณปาก บริเวณปากหรือช่องปากติดเชื้อรา หรือติดเชื้อแบคทีเรียแล้วลุกลามไปที่มุมปาก ทำให้เกิดแผลอักเสบของโรคปากนกกระจอกขึ้นมาได้
  • เกิดการระคายเคืองจากน้ำลาย พบได้บ่อยในคนที่ปากแห้งและชอบเลียริมฝีปาก หรือผู้ที่มีปัญหาน้ำลายไหลเอ่อมาที่มุมปากบ่อยๆ ซึ่งน้ำลายทำให้เกิดการระคายเคือง เกิดการอักเสบและอาจติดเชื้อตามมาได้
  • เกิดอาการแพ้ เมื่อริมฝีปากสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น ลิปสติก ยาสีฟัน ก็ทำให้ริมฝีปากระคายเคืองและอักเสบได้ หรือบางรายอาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
  • การขาดสารอาหาร โดยเฉพาะวิตามิน B2 และธาตุเหล็ก
  • การจัดฟัน หรือใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดี ทำให้น้ำลายล้นออกมาที่มุมปากบ่อยๆ หรือมีการเสียดสีกับอุปกรณ์ จนมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคปากนกกระจอกได้เช่นกัน
  • มีปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัว โรคบางอย่าง อาจทำให้เป็นโรคปากนกกระจอกได้ง่ายขึ้น เช่น โรคโลหิตจาง มะเร็งบางชนิด โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น การกินยารักษาสิวกลุ่มกรดวิตามินเอ

การป้องกันโรคปากนกกระจอกด้วยตนเอง

โรคปากนกกระจอกสามารถป้องกันได้ โดยเริ่มจากการดูแลตัวเองไม่ให้มีปัญหาสุขภาพที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าว สามารถทำได้ ดังนี้

  • ไม่ควรกัดหรือเลียริมฝีปากเมื่อปากแห้งหรือแตก เนื่องจากการกัดปากจะทำให้เลือดออกและแผลหายได้ช้า ทั้งนี้ น้ำลายที่เลียริมฝีปากจะล้างความชุ่มชื้นของผิวหนังออกไป ส่งผลให้ปากแห้งกว่าเดิม
  • ควรทาลิปบาล์มที่ผสมเจลหรือขี้ผึ้งเป็นประจำ เมื่อเกิดอาการปากแห้ง โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง
  • ผู้ที่ใส่ฟันปลอมควรหมั่นดูแลความสะอาดของฟันปลอมอยู่เสมอ รวมทั้งไม่ใส่ฟันปลอมขณะนอนหลับ
  • ผู้ป่วยโรคเชื้อราในช่องปากที่มีปัญหาสุขภาพด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าว เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ควรรักษาความสะอาดช่องปากและรับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้อาการของโรคแย่ลง
  • งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่สามารถทำให้ปากแห้งได้ง่าย

โรคปากนกกระจอกมักจะไม่ร้ายแรงและสามารถหายได้ภายใน 2 สัปดาห์หลังจากเริ่มการรักษา อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับการรักษาทันที โรคนี้อาจทำให้เกิดแผลที่ปาก ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ การดูแลรักษาโรคปากนกกระจอกเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำหรือมีอาการที่รุนแรงขึ้นในครั้งต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์อายุรกรรม
โทร. 034-417999 ต่อ 110, 111 หรือ สายด่วน 1715