ไขข้อสงสัยคุณแม่ควรเริ่มฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี
ในการฝากครรภ์สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากแพทย์จะสามารถช่วยดูแลสุขภาพของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ให้ปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการติดตามพัฒนาการการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อีกด้วย
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเข้ามาฝากครรภ์เมื่อไหร่?
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่ามีการตั้งครรภ์ และไม่ควรเกิน 3 เดือน หลังจากมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเป็นอย่างช้า ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์ และหลังจากการฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะมีการนัดหมายเพื่อตรวจครรภ์ตลอดช่วงตั้งครรภ์ ไปจนกระทั่งถึงกำหนดวันคลอด ตามความเหมาะสมและตามภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขณะคุณแม่ตั้งครรภ์
ขั้นตอนในการฝากครรภ์ครั้งแรกเป็นอย่างไร?
เมื่อมาฝากครรภ์ในครั้งแรก แพทย์จะสอบถามประวัติการเจ็บป่วยในอดีต โรคประจำตัว ประวัติการเจ็บป่วยของครอบครัว ประวัติการเจ็บป่วยของสามี ยาที่ใช้อยู่หรือใช้เป็นครั้งคราว รวมถึงการทดสอบการตั้งครรภ์ และอื่นๆ ได้แก่
- การตรวจร่างกายโดยแพทย์
- วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก ตรวจปัสสาวะตรวจภายในเพื่อวัดขนาดของมดลูกเพื่อประเมินอายุครรภ์ ตรวจวัดความกว้างของช่องเชิงกรานว่ากว้างพอจะคลอดเองได้หรือไม่ รวมถึงการตรวจหามะเร็งปากมดลูก
- ตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และดูกลุ่มเลือด ถ้ามีภาวะซีด แพทย์จะให้ยาบำรุงเลือด
- ดูกลุ่มเลือด Rhesus (Rh)
- ตรวจดูภูมิต่อโรคหัดเยอรมัน
- ตรวจดูภูมิต่อโรคไวรัสตับอักเสบบี
- ตรวจดูโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่นโรคซิฟิลิส
- ตรวจปัสสาวะ
คำถามที่คุณแม่ควรสอบถามคุณหมอเมื่อไปฝากครรภ์
- กำหนดคลอดเมื่อไหร่ เพื่อคุณแม่จะได้เตรียมตัวให้พร้อม
- อาหารการกิน จากการวิจัยพบว่า อาหารการกินส่งผลโดยตรงต่อน้ำหนักและสุขภาพโดยรวมของทารก
- ต้องเสริมกรดโฟลิกหรือไม่ อย่างไร เพราะกรดโฟลิกช่วยสร้างอวัยวะโดยเฉพาะบริเวณสันหลังให้สมบูรณ์
- ยาชนิดใดเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์บ้าง การกินยาขณะตั้งครรภ์คุณแม่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ก่อนใช้ยาต้องสอบถามคุณหมอทุกครั้งแม้จะเป็นยาที่เคยใช้ประจำก็ตาม
- ออกกำลังกายแบบใดได้บ้าง คุณแม่ที่สนใจการออกกำลังกาย ควรปรึกษาจากคุณหมอ
- จะต้องมาตรวจครั้งต่อไปเมื่อไร เพื่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ ต้องมาพบคุณหมอสม่ำเสมอตามนัด
- ต้องตรวจอะไรบ้าง สุขภาพ อายุ โรคประจำตัว ฯลฯ ของคุณแม่แต่ละคนก็แตกต่างกันไป ควรสอบถามคุณหมอให้แน่ชัดว่าต้องตรวจอะไรบ้าง
- อัลตราซาวนด์ต้องตรวจหรือไม่ ส่วนใหญ่คุณหมอจะแนะนำให้อัลตราซาวนด์เพื่อดูการเติบโตของทารกในครรภ์และกำหนดอายุครรภ์ และในกรณีที่จำเป็น เช่น ตั้งครรภ์แฝด หรือคุณแม่มีความเสี่ยงสูง
- สิทธิที่คุณแม่ควรได้รับ หรือสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ เช่น ค่าลดหย่อนในการตรวจครรภ์ การออกใบรับรองแพทย์เพื่อหยุดงานพักงาน ฯลฯ ควรบอกให้คุณหมอทราบด้วย
- สิ่งที่พึงหลีกเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารก เช่น เชื้อโรคจากแมว ควันบุหรี่ การติดเชื้อที่ทำให้แท้งบุตร พิษจากสารเคมี ฯลฯ เลี่ยงอย่างไรให้ปลอดภัย คุณหมอจะให้คำปรึกษาแนะนำได้
- คลอดเองได้หรือไม่ คุณแม่ควรยืนยันแสดงการความตั้งใจให้ชัดเจน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : ศูนย์สูตินรีเวช
โทร. (034) 417-999 ต่อ 158, 221, 222 สายด่วน 1715