เชื้อก่อโรคและแหล่งรังโรค
โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza) เป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (Influenza A virus) พบในสัตว์ปีก (poutry) เชื้อประกอบด้วย Hemagglutinin (HA) และNeuraminidase (NA) อยู่ที่บริเวณผิวด้านนอกของไวรัสปัจจุบันค้นพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกกว่าร้อยสายพันธุ์ซึ่งพบสายพันธุ์ย่อยมากกว่าที่พบในคนสายพันธุ์ที่พบรายงานการเกิดโรคในคนได้แก่H5N1, H7N2, H7N3, H9N2, H10N7 และH7N9 เป็นต้นอนึ่งสายพันธุ์ย่อย A (H5N1) และ A (H7N9) เป็นสายพันธุ์ที่พบว่าสามารถก่อให้เกิดโรครุนแรงในคนได้ (Highly Pathogenic Avian Influenza หรือ HPAI)
โรคไข้หวัดนกมีนกน้ำในธรรมชาติเป็นรังโรคและทำให้เกิดโรคในสัตว์ปีกที่อยู่ตามธรรมชาติเช่นนกน้ำป่านกเป็ดน้ำห่านนกตามป่าชายเลนพบว่าเชื้อสายพันธุ์ย่อยชนิด A (H5N1) เมื่อสัตว์ปีกเหล่านี้ติดเชื้อจะเกิดอาการค่อนข้างน้อยหรือไม่มีอาการแต่สามารถแพร่โรคให้กับสัตว์ปีกอื่นๆที่เลี้ยงใกล้ชิดกับคนหรือเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคได้เช่นเป็ดไก่ไก่งวงเป็นต้นรวมไปถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้แก่หมูปลาวาฬ (whale) สิงโตทะเล (seal) ม้าพังพอน (ferrets) แมวสุนัขและเสือ อย่างไรก็ดีการติดเชื้อจากสัตว์มายังคนพบคนติดเชื้อจากสัตว์ปีกแต่ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ลักษณะและอาการของโรค
เมื่อสัตว์มีอาการป่วยจะแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดนกผ่านออกมาทางน้ำมูกน้ำลายและมูลสัตว์เมื่อคนไปสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ป่วยอาจจะได้รับเชื้อดังกล่าวติดมากับมือและสามารถเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุของจมูกและตาได้หรือเมื่อสัตว์มีการกระพือปีกคนก็สามารถติดโรคโดยการสูดหายใจนำละอองของไวรัสเข้าไปในปอดได้เช่นกันและเนื่องจากคนไม่เคยมีภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าวส่วนใหญ่จึงเกิดอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตได้สูงการแพร่เชื้อไข้หวัดนกจากคนที่ติดเชื้อไปสู่คนปกติมีโอกาสเกิดได้น้อยเนื่องจากมีรายงานพบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่อยู่ในคนมักจะไม่คงตัวและมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อต่อไปให้บุคคลอื่นได้น้อย
ระยะตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งมีอาการ (Incubation period) ส่วนใหญ่ไม่เกิน 7 วันในเชื้อไข้หวัดนก A (H5N1) อยู่ที่ประมาณ 2 – 5 วันและอาจยาวนานได้ถึง 17 วันส่วนในเชื้อ A (H7N9) อยู่ที่ประมาณ 5 วันโดยมีอาการได้ในช่วง 1 – 10 วันผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกมีตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการรุนแรงแต่ส่วนใหญ่จะเกิดอาการปอดบวมรุนแรงมากกว่าโดยมีอาการที่พบบ่อยในระยะเริ่มต้นของการป่วยได้แก่ไข้สูง (ส่วนใหญ่สูงกว่า 38 องสาเซลเซียส) ไอเจ็บคอน้ำมูกปวดศีรษะปวดกล้ามเนื้ออ่อนเพลียคลื่นไส้อาเจียนถ่ายเหลวและมีอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างเช่นหายใจลำบากและมักพบปอดบวมที่ไม่แสดงอาการแต่พบได้จากเอ็กซเรย์ปอดโดยอาการเจ็บคอและอาการไข้หวัดพบได้บางครั้งอาการทางระบบทางเดินอาหารพบในผู้ป่วยที่รายงานจากประเทศไทยและเวียดนามเมื่อปี 2547 แต่หลังจากปี 2548 พบได้ลดลงในผู้ที่มีอาการรุนแรงปอดจะติดเชื้อหลังจากมีอาการและต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโดยเฉลี่ย 4 วันไม่ว่าจากตัวไวรัสไข้หวัดใหญ่เองหรือติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนก็ได้และอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลวจนกระทั่งเสียชีวิตได้ในที่สุดซึ่งพบผู้ที่เสียชีวิตหลังจากมีอาการ 9 – 10 วันอัตราป่วยตายจากการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยชนิด A (H5N1) เป็นร้อยละ 60
การวินิจฉัยอาศัยจากอาการประวัติการสัมผัสสัตว์ที่ป่วยหรือตายการตรวจร่างกายและการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการซึ่งมักพบเม็ดเลือดขาวทั้งหมดและชนิดลิมโฟซัยต์ต่ำรวมทั้งเกล็ดเลือดต่ำโดยการส่งตรวจหาสารพันธุกรรม viral ribonucleic acid (RNA) หรือตรวจดูภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้หวัดนกโดยอาจเปรียบเทียบระดับที่เพิ่มขึ้นของภูมิคุ้มกันในช่วงที่เริ่มมีอาการกับระยะต่อมาซึ่งมีชุดตรวจคัดกรองหลายชนิดใช้ช่วยในการวินิจฉัยและรักษาเบื้องต้นเท่านั้นอย่างไรก็ดีการวินิจฉัยยืนยันทางห้องปฏิบัติการต้องใช้วิธีการเพาะเชื้อและวิธีการตรวจมาตรฐานอื่นๆที่ได้รับการรับรองเช่น RT- PCR (Real Time – Polymerase Chain Reaction) ซึ่งในประเทศไทยสามารถส่งตรวจได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุข
การรักษาคือการให้ยาต้านไวรัสเหมือนยาที่ให้ในไข้หวัดใหญ่ทั่วไปโดยให้ยา Oseltamivir แต่ควรระวังการเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งสามารถพบได้บ่อยและมีอาการรุนแรงไม่ควรให้ยาสเตียรอยด์รวมทั้งควรหาสาเหตุของการติดเชื้อค้นหาผู้สัมผัสและผู้มีประวัติเสี่ยงโดยอาจให้ยาป้องกันการป่วยหลังสัมผัส (postexposure prophylaxis) ให้ยา Oseltamivir 75 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 5 วันร่วมกับการกักกันแบบสมัครใจและวัดอุณหภูมิตนเองทุกวันเพื่อทราบว่าป่วยอย่างเร็วที่สุดรวมทั้งค้นหาแหล่งโรคได้แก่สัตว์ป่วยสิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนเชื้อตลอดจนการระบาดในสัตว์ปีกเป็นต้นเพื่อสามารถดำเนินการควบคุมและป้องกันโรคทั้งในคนและสัตว์ได้อย่างทันเวลาตลอดจนป้องกันการระบาดในวงกว้าง
กลุ่มนักท่องเที่ยวเสี่ยงและประเทศที่มีโอกาสพบเจอโรค
ปัจจุบันมี 6 ประเทศที่พบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ A (H5N1) กลายเป็นเชื้อประจำถิ่นในประเทศนั้นๆได้แก่จีนบังคลาเทศอียิปต์อินเดียอินโดนีเซียและเวียดนามสำหรับการรายงานการพบโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ A (H5N1) ในคนได้แก่อาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan) บังคลาเทศกัมพูชาจีนจิบูตี (Djibouti) อียิปต์อินโดนีเซียอิรักส.ป.ป.ลาวพม่าไนจีเรียปากีสถานไทยตุรกีและเวียดนามเป็นต้นสำหรับสายพันธุ์ที่มี H7 เป็นส่วนประกอบพบรายงานผู้ป่วยที่สอดคล้องกับการระบาดของเชื้อในสัตว์ปีกได้แก่ H7N3 ในแคนาดาอิตาลี อังกฤษและเม็กซิโก H7N2 ในสหรัฐและอังกฤษ H7N7 ในอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ H7N9 จีนเป็นต้นดังนั้นโรคไข้หวัดนกจึงมีโอกาสแพร่ระบาดมาสู่นักเดินทางซึ่งจากข้อมูลพบว่าผู้ป่วยด้วยไข้หวัดนกสายพันธุ์ A (H5N1) ส่วนใหญ่อายุ 18 ปีและร้อยละ 90 พบในคนอายุตั้งแต่และต่ำกว่า 40 ปี ดังนั้นหากมีข่าวการระบาดเกิดขึ้นทั้งในคนและสัตว์นักเดินทางและท่องเที่ยวควรตรวจสอบจุดที่เกิดการระบาดก่อนการเดินทางและหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงเช่นคนทำงานในฟาร์มสัตว์ปีก หรืออุตสาหกรรมอาหารจากสัตว์ปีกบ้านชนบทที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกตลอดจนสัตว์ปีกหากไม่จำเป็น
วิธีการดูแลป้องกันตนเอง
ถ้านักท่องเที่ยวจำเป็นต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนกควรปฏิบัติดังนี้
- หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ควรสวมเครื่องป้องกันร่างกายอย่างมิดชิดเช่นหน้ากากอนามัยถุงมือแว่นตาหมวกรองเท้าบู๊ต
- ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆด้วยน้ำสบู่และทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์
- หากพบสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบทันทีพร้อมทั้งสังเกตอาการของตนเองอย่างใกล้ชิด
- ทานอาหารที่ปรุงสุกสะอาดถ้าเป็นไปได้ให้หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ปีกในช่วงที่มีการระบาด
- ห้ามนำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายมาปรุงอาหารโดยเด็ดขาด
- ขณะหรือหลังกลับจากการเดินทางมีอาการที่ผิดปกติเช่นไข้ไอน้ำมูกหอบเหนื่อยให้รีบไปพบแพทย์พร้อมกับแจ้งประวัติการเดินทางและการสัมผัสสัตว์อย่างละเอียด
ทั้งนี้ในปัจจุบันมีการผลิตวัคซีนสำหรับใช้ป้องกันโรคไข้หวัดนก A (H5N1) สำเร็จแล้วแต่การศึกษาในมนุษย์ยังมีค่อนข้างจำกัดรวมถึงยังไม่มีการฉีดป้องกันสำหรับบุคคลทั่วไปและจำกัดการใช้เฉพาะบุคลากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเมื่อมีการระบาดเท่านั้นอย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในบุคคลทั่วไปที่จะช่วยไม่ให้เกิดการผสมสายพันธุ์กันของโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ในตัวคนซึ่งอาจจะทำให้เกิดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงได้