เป็นโรคที่มีการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่อยู่บริเวณใบหน้า (Facial Nerve) เส้นประสาทคู่นี้ จะควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้า ทั้งส่วนบน และ ส่วนล่างดังนั้นผู้ที่เป็นโรคนี้ จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าซีกที่เส้นประสาทอักเสบจะอ่อนแรงมีอุบัติการณ์ผู้ที่เป็นโรคนี้มีมาก ใน 5,000 คน จะพบคนเป็นโรคนี้ 1 คน
อาการผู้ที่เป็นโรคใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก
- ปิดตาไม่สนิท 1 ข้าง
- ยักคิ้ว ไม่ได้
- มุมปากตก ดื่มน้ำแล้วน้ำไหลออกที่มุมปากข้างที่เป็นปัญหา
- ขยับใบหน้าซีกที่เป็นปัญหาไม่ได้
ระดับความรุนแรงของโรค ระดับความรุนแรง
- ระดับที่ 1 ใบหน้าขยับได้ทุกส่วน ริมฝีปากปกติ
- ระดับที่ 2 ใบหน้าอ่อนแรงเล็กน้อย มีมุมปากไม่เท่ากันเล็กน้อย
- ระดับที่ 3 ใบหน้าเบี้ยวชัดเจน หลับตาสนิทได้ แต่ต้องใช้ความพยายาม มุมปากอ่อนแรงเล็กน้อย
- ระดับที่ 4 ใบหน้าอ่อนแรงชัดเจน ไม่สามารถปิดตาให้สนิทได้ มุมปากตกชัดเจน
- ระดับที่ 5 ใบหน้าเบี้ยวชัดเจน มุมปากตก ยกไม่ขึ้น
- ระดับที่ 6 เป็นอัมพาตใบหน้า ไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อใบหน้า และมุมปากได้
โรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก (Bell’s Palsy) แตกต่างจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือแตกต่าง อย่างไร
โรคหลอดเลือดสมองะเป็นความผิดปกติ ที่เนื้อสมอง มักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีแขนขาอ่อนแรง มีอาการชาที่แขนขา มีอาการพูดไม่ชัด ส่วนโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก เป็นความผิดปกติ ที่เส้นประสาทของสมองคู่ที่ 7 มักจะมีอาการเฉพาะที่ใบหน้า การพูดจะปกติ
สาเหตุการเกิดโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก
- ไม่ทราบสาเหตุการเกิด พบในช่วงอายุ 20-39 ปี พบได้มากถึง 70% ของสาเหตุทั้งหมด
- เกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือบริเวณใบหน้า ทำให้เส้นประสาทบริเวณใบหน้าเสียหาย พบได้ 10-23%
- เกิดการอักเสบและติดเชื้อไวรัส เชื้อที่พบได้มากที่สุดคือ เชื้อ Herpes Simplex โดยเชื้อไวรัสจะทำให้เกิดการอักเสบ และบวม ของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 พบได้ 4.5-7%
- เนื้องอก บริเวณศีรษะ และลำคอ พบได้ 2.2-5%
การวินิจฉัยโรค
แพทย์จะทำการซักประวัติ และตรวจร่างกาย อาจมีส่งตรวจด้วยเครื่องวินิจฉัยกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า(Nerve Conduction Study) ตรวจเลือด หรือ อาจส่งตรวจ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(CT) หรือ ตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็ก(MRI) เพื่อการแยกออกจากโรคอื่นๆ
การรักษาโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง (Bell’s palsy)
- การรักษาด้วยการใช้ยา เพื่อลดอาการอักเสบของเส้นประสาท
- รักษาทางกายภาพบำบัด โดยใช้เครื่องมือกระตุ้นระบบประสาทส่วนปลายด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Peripheral Magnetic Stimulation :PMS) เพิ่มความแข็งแรงและป้องกันการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อใบหน้าซีกที่อ่อนแรง ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดบริเวณใบหน้า สามารถเพิ่มการผ่อนคลายให้กล้ามเนื้อใบหน้าฝั่งอ่อนแรงได้ เป็นวิธีที่ทำได้ผลดีและไม่เจ็บ ส่วนใหญ่แล้วอาการจะดีขึ้นภายใน 3 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยที่รักษาโดยวิธีการทำกายภาพบำบัด อัตราการฟื้นตัว อยู่ที่ 61-94%
- การรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นการผ่าตัด Facial Nerve Decompression ส่วนใหญ่แพทย์ไม่แนะนำ เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้