คือภาวะที่ความหนาแน่นของกระดูกลดลง และโครงสร้างของกระดูกเสื่อมลง จึงทำให้กระดูกเปราะบาง และมีโอกาสหักหรือยุบตัวได้ง่าย พบบ่อยในผู้สูงอายุหรือหญิงวัยหมดประจำเดือน
โรคกระดูกพรุน อันตรายอย่างไร
ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายที่สุดคือ กระดูกหัก บริเวณที่พบบ่อยได้แก่ กระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ กระดูกหักจะทำให้เกิดอาการปวดมากจนไม่สามารถใช้งานต่อได้ ต้องพักรักษาตัวเป็นเวลานานทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ปอดอักเสบ แผลกดทับ ภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นเหตุให้สุขภาพแย่ลงอย่างรวดเร็ว อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง
- ผู้สูงอายุ
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง
- การกินอาหารที่มีแคลเซี่ยมน้อย
- กรรมพันธุ์ มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
- เชื้อชาติ พบมากในคนผิวขาวหรือชาวเอเชีย
- สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟปริมาณมาก เป็นประจำ
- ขาดการออกกำลังกาย
- น้ำหนักตัวน้อย รูปร่างผอม
- โรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน ขาดวิตามินดี โรคไทรอยด์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
- ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากันชัก ยาขับปัสสาวะ
อาการของโรคกระดูกพรุน
ระยะแรกมักไม่มีอาการ แต่เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการปวดหลังเรื้อรัง หลังโก่งค่อม ความสูงลดลง กระดูกหักง่ายกว่าคนปกติแม้ไม่มีอุบัติเหตุที่รุนแรง
การวินิจฉัย
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงและสงสัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุนควรปรึกษาแพทย์ และตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกโดยใช้เครื่องวัดมวลกระดูกเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
การป้องกันโรคกระดูกพรุน
ในคนปกติ หลังอายุ 40 ปี ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกจะลดลง ดังนั้นจึงควรเสริมสร้างให้เนื้อกระดูกแข็งแรง โดยปฏิบัติดังนี้
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม กุ้งแห้ง กะปิ ปลาเล็กที่กินได้ทั้งก้าง งาดำ ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ผักใบเขียวเช่น ผักโขม คะน้า ใบชะพลู ใบยอ
- ลดอาหารที่มีไขมันมาก เนื่องจากไขมันจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม
- ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี สม่ำเสมอ เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เพศและวัย เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ รำมวยจีน เต้นรำ
- ควรงดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน
- ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะยาบางชนิดทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง เช่น ยารักษาไทรอยด์ ยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
การรักษาด้วยยา
ปัจจุบันมียารักษาโรคกระดูกพรุน 3 กลุ่ม ได้แก่
- ยาช่วยลดการทำลายกระดูก เช่น แคลเซี่ยม บิสฟอตฟาเนต ฮอร์โมนแคลซิโตนิน
- ยาช่วยกระตุ้นการสร้างกระดูก เช่น ฮอร์โมนพาราไทรอยด์เทอริพาราไทด์
- ยาที่ช่วยทั้งกระตุ้นการสร้างและลดการทำลายกระดูก เช่น สตรอนเทียมรานิเลต
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไม่ต้องการเป็นโรคนี้ก็สามารถป้องกันได้ โดยการสะสมมวลกระดูกให้มากที่สุดในช่วงวัยเด็กและก่อนอายุ 35 ปี โดยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง จากการศึกษาพบว่า ความต้องการแคลเซียมในแต่ละวัยมีดังนี้
เด็กวัย 0-1 ปี | 210-270 | มิลลิกรัม |
1-8 ปี | 500-800 | มิลลิกรัม |
9-18 ปี | 1000 | มิลลิกรัม |
19-50 | ปี 800 | มิลลิกรัม |
>50 ปี | 1000 | มิลลิกรัม |
หญิงวัยหมดประจำเดือนและหญิงให้นมบุตร | 1000-1500 | มิลลิกรัม |
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเอกชัย โทร. 1715 หรือ 034-417-999 ต่อ 132, 133
View our Specialists in our Orthopaedic Doctors Page