การ “ร้องกลั้น” หรือ ภาวะ “กลั้นหายใจในเด็ก” หรือ Breath holding spells”  พบในเด็กเล็ก ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยพบได้บ่อยในเด็กอายุ 1-3 ปี เนื่องจากเด็กมักมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอัตราการหายใจ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองกับความโกรธหรือเจ็บปวด  โดยส่วนใหญ่เด็กมักกลั้นได้นานถึง 1 นาที (ส่วนใหญ่มักไม่เกิน10-20 วินาที)    ทั้งนี้ เมื่อเด็กอายุมากกว่า 8 ปี ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแล้ว  ซึ่งอาการที่เกิดกับเด็กเล็กดังกล่าว  จำเป็นอย่างยิ่ง ที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจ และไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะจริงๆ อาการดังกล่าวสามารถหายได้

สาเหตุภาวะกลั้นหายใจในเด็ก

  • ถูกขัดใจ
  • โกรธ
  • โมโห
  • เจ็บปวด
  • ความเครียด
  • กลัวมาก

ภาวะกลั้นหายใจในเด็ก มี 2 ประเภท

  1. ร้องไห้อย่างรุนแรง หรือ Cyanotic Spells พบมากที่สุด โดยมีอาการหยุดหายใจในขณะหายใจออก ทำให้เกิดการขาดออกซิเจนและหน้าเขียว หากเด็กไม่สามารถปรับการหายใจ จะนำไปสู่การหมดสติ และชักตามมา แต่โดยส่วนใหญ่อาการจะกลับสู่ภาวะปกติภายใน 1 นาที เหตุกระตุ้น เกิดจากการที่เด็กถูกขัดใจ โมโห หรือโกรธอย่างรุนแรง  โดยสาเหตุที่เกิดเนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่
  2. ร้องไห้ไม่รุนแรง Pallid Spells ไม่มีภาวะเขียวหรือขาดออกซิเจน แต่มีอาการหน้าซีด ซึ่งมักสัมพันธ์กับการขาดธาตุเหล็ก อาจร้องไห้ หรือไม่ร้องเลย แต่อาจมีหมดสติ กระตุก และมักจะกลับเป็นปกติภายใน 1 นาที โดยเหตุกระตุ้น เกิดจากความกลัวหรือตกใจ

การช่วยเหลือเบื้องต้นภาวะกลั้นหายใจในเด็ก

  1. ควรหลีกเลี่ยงวิธีบังคับหรือขัดใจ เปลี่ยนเป็นวิธีเบี่ยงเบนความสนใจ โน้มน้าวหรือห้ามด้วยความนุ่มนวล ไม่ควรแสดงความตกใจเมื่อลูกแสดงอาการ
  2. เมื่อลูกมีอาการภาวะกลั้นหายใจ ควรอุ้มเด็กไว้ หรือนอนราบ เพื่อป้องกันการล้มศีรษะฟาดพื้น
  3. การนำผ้าชุบน้ำเย็นวางบนหน้า 15 วินาที จะช่วยให้อาการดีขึ้น
  4. อย่าใช้วิธีเขย่าลูก ตีลูก ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ดูเหมือนอาการจะรุนแรง  แต่แท้จริงแล้ว ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก และสามารถหายได้เอง ทั้งนี้ ผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญในการบรรเทาอาการร้องกลั้นในเด็กด้วย โดยควรลดความวิตกกังวล เพื่อไม่สร้างภาวะเครียดให้กับเด็กเพิ่มมากขึ้น และไม่ควรตามใจ เพราะเด็กจะเกิดการเรียนรู้ว่าถ้าต้องการสิ่งใด ก็จะใช้วิธีร้องไห้เป็นเงื่อนไข เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ แต่ควรระวังการเกิดอุบัติเหตุระหว่างเด็กไม่รู้สึกตัว และปฏิบัติตัวตามปกติ ไม่แสดงความวิตกกังวลแทน เพื่อสร้างสถานการณ์ปกติให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และนัดหมายแพทย์ ที่ศูนย์พัฒนาการเด็ก

โทร.034-417999 สายด่วน 1715 ต่อ 9125, 9126