หมอนรองกระดูกคืออะไร ?
“หมอนรองกระดูก” จะเป็นอวัยวะที่ขั้นอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ โดยมีหน้าที่เป็นตัวรับน้ำหนักและรับแรงกระแทกที่ถูกถ่ายทอดลงมาจากกระดูกสันหลังชิ้นบนที่จะส่งผ่านต่อลงไปที่กระดูกสันหลังชิ้นล่าง หมอนรองกระดูกของร่างกายคนเราจะมีทั้งหมด 23 ชิ้น มีลักษณะรูปร่างกลมรี ซึ่งจะมีทั้งขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็ก โดยขนาดของหมอนรองกระดูกจะขึ้นอยู่กับรูปร่างของกระดูกสันหลัง และตำแหน่งที่อยู่ของร่างกาย
หมอนรองกระดูกประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลักๆ ด้วยกัน
- Annulus Fibrosus จะอยู่รอบนอก มีลักษณะแข็ง เหนียว และมีความยืดหยุ่นน้อย มีหน้าที่ช่วยรับแรงในการหมุนและแรงที่กดทับลงมา
- Nucleus Pulposus จะอยู่ส่วนตรงกลาง มีลักษณะคล้ายกับเจลลี่ มีความยืดหยุ่นและนิ่มกว่า มีหน้าที่ดูดซับแรงกระแทกและกระจายแรงของนํ้าหนักตัวที่ส่งผ่านมายังกระดูกสันหลังแต่ละข้อในขณะเคลื่อนไหวร่างกาย
พฤติกรรมที่สร้างความเสี่ยงต่อหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีอะไรบ้าง ?
หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินโรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกกันมาบ้าง ซึ่งพฤติกรรมที่สร้างความเสี่ยงต่อหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้น ได้แก่
- ผู้ที่มีพฤติกรรมก้มๆ เงยๆ บ่อยๆ หรือมากเกินไป เช่น ผู้ที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป ผู้ที่มีพฤติกรรมก้มหน้าใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป
- ผู้ที่มีประวัติเคยได้รับอุบัติเหตุหรือยกของหนักในท่าที่ไม่ถูกต้อง จนกระทั่งส่งผลต่อหมอนรองกระดูกสันหลังได้
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป และผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย
- ผู้ที่มีพฤติกรรมการเดิน ยืน นั่ง และนอนที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนั่งไม่พิงพนัก นั่งหลังงอ การนอนคว่ำเพื่ออ่านหนังสือ
- ผู้ที่มีพฤติกรรมที่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานๆ โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น พนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ผู้ที่ต้องนั่งขับรถเป็นระยะทางไกลๆ
- ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องทำงานอยู่ในบริเวณที่มีการสั่นสะเทือนบ่อยๆ เช่น เขตก่อสร้าง
- ผู้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่จัด เนื่องจากบุหรี่สามารถทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมก่อนวัยอันควรได้
ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ
034-417-999 หรือ สายด่วน 1715 ต่อ 132, 133