โรคอ้วนในเด็ก
สภาพสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไป แต่ละวันเต็มไปด้วยความเร่งรีบ ส่งผลให้พฤติกรรมการรับประทานอาหารเปลี่ยนไป จากที่เคยทำกับข้าวทานเองในบ้าน เปลี่ยนเป็นทานอาหารฟาสต์ฟูด ทานอาหารประเภทสำเร็จรูป ส่งผลให้เด็กเกิดภาวะน้ำหนักเกิน อาจส่งผลให้เกิดโรคอ้วนในเด็ก และอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาพจิต
สาเหตุโรคอ้วนในเด็ก
- การบริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคสมัยที่เต็มไปด้วย น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ ลูกอม ขนมหวาน อาหารฟาสต์ฟูด
- พฤติกรรมการออกกำลังกายที่ไม่สมดุลกับพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน ออกกำลังกายน้อย เด็กๆจะจดจ่ออยู่กับภาพเคลื่อนไหว ทาง TV จอคอมพิวเตอร์ จอโทรศัพท์มือถือ นานๆ
- พันธุกรรม พบเป็นส่วนน้อย ถ้าคุณพ่อ คุณแม่มีรูปร่างอ้วน ลูกก็มีโอกาสอ้วนตามไปด้วย
- ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อในเด็ก
ผลกระทบด้านสุขภาพจากโรคอ้วนในเด็ก
- เหนื่อยง่าย, นอนกรน บางครั้งทำให้นอนหลับไม่สนิท อาจส่งผลเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้ (ภาวะ Sleep Apnea)
- มีความเสี่ยงเกิด โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไขมันพอกตับ เบาหวาน ซึ่งหลายคนจะเข้าใจว่านี่คือโรคที่พบในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่โรคเหล่านี้สามารถพบได้ในคนอายุน้อยๆที่มีโรคอ้วนด้วย
- ระบบกระดูกและข้อ โดยเฉพาะข้อเข่า และข้อสะโพก เนื่องจากต้องรับน้ำหนักมากเกินไป ขาโก่ง พบการเสียดสีของผิวหนังระหว่างขาเวลาเดิน
- ระบบผิวหนัง มีเหงื่อออกมาก เกิดความอับชื้น และผื่น
- ด้านจิตใจ เด็กอ้วนมักขาดความมั่นใจ ถูกล้อเลียน เด็กมีภาวะเครียด ไม่กล้าแสดงออก
แนวทางแก้ไข
ควรพบกุมารแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพ ถ้าพบว่ามีโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ต้องดูแลรักษาตั้งแต่แรกเริ่มตามแนวทางที่เหมาะสม
แนวทางการดูแล
คุณพ่อ คุณแม่ ควรควบคุมปริมาณอาหารของลูกให้รับประทานผัก ผลไม้ที่มีกากใย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง เช่น ขนมขบเคี้ยว ของทอด ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 20 – 30 นาที ต่อวัน
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์กุมารเวช โทร.034-417999 สายด่วน 1715 ต่อ 9221, 9222