การสร้างวินัยเชิงบวกการที่เด็กเจริญเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ รู้หน้าที่ ความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัวและสังคมการที่เด็กคนหนึ่งสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียนได้นั้น เด็กต้องมีความเข้มแข็งทางจิตใจพอสมควรที่จะควบคุมตนเอง มีความยับยั้งชั่งใจ ที่จะไม่ตามใจตนเองให้ไม่ฝืนระเบียบ กฎเกณฑ์ของสังคมนั้นๆ

โดยทั่วไปแล้วเมื่อกล่าวถึงการสร้างระเบียบวินัย ไม่จำเป็นต้องใช้การลงโทษเสมอไป การที่ผู้ปกครองยืนยันอย่างหนักแน่น ไม่เกรี้ยวกราด ไม่ใช้อารมณ์รุนแรง หรือลงโทษ ผู้ปกครองที่เข้าใจพัฒนาการหรือทักษะที่เด็กในแต่ละวัยสามารถทำได้ พื้นฐานอารมณ์ของเด็ก และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กและผู้ปกครอง การฝึกเด็กนั้นควรเริ่มที่ 1-2 กิจกรรมที่ต้องการ โดยเริ่มจากกิจกรรมที่ง่ายก่อน เพื่อให้เด็กได้มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น และค่อยๆพัฒนาให้คล่องแคล่วมากขึ้น

สาเหตุที่ทำให้เด็กขาดวินัย

  1. ปัจจัยธรรมชาติจากตัวเด็กเอง เช่น การที่เด็ก เหนื่อย หิว อ่อนเพลีย ง่วงนอน หรือเจ็บป่วย ภาวะเหล่าเด็กมักจะร้องไห้ งอแง หงุดหงิด โมโหร้าย ผู้ปกครองไม่ควรเอามาเป็นอารมณ์และควรดูแลเอาใจใส่ เช่น พาเด็กเข้านอน หาอาหารให้กิน ให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ หรือ พาไปพบแพทย์เมื่อไม่สบาย ไม่ควรมาฝึกวินัยกันในช่วงนี้
  2. ปัจจัยครอบครัว ผู้ปกครองที่ขาดวินัย ติดเหล้าหรือยาเสพติด ครอบครัวแตกแยก มีความก้าวร้าวรุนแรงภายในครอบครัวนั้น ย่อมจะขาดความสามารถในการเอาใจใส่

การฝึกระเบียบวินัยเบื้องต้นที่ผู้ปกครองสามารถทำได้ดังนี้

  1. ทักษะสังคม การกล่าวสวัสดีทักทาย ไปมา ลาไหว้ การรู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเองและเคารพสิทธิผู้อื่น เช่น การรอคอย การต่อคิว การตรงต่อเวลา และการอดทนรอคอย เริ่มด้วยการสอน จับมือทำและชักชวนให้ทำตาม ในระยะแรกเมื่อเด็ก เริ่มเข้าวัย 1 ปี เด็กสามารถพูดคำง่ายๆได้แล้ว เช่น การสวัสดี บ้ายบาย ส่งจุ๊บ ต่อมาพอเด็กเริ่มไปโรงเรียนวัยอนุบาล เด็กๆ เริ่มเรียนรู้การทักทายคุณครูที่โรงเรียน การต่อแถวเข้าคิว และการอดทนรอคอยมากขึ้น
  2. การเก็บของเล่น สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่อายุ 2 ปีขึ้นไป โดยเริ่มต้นจากการปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จัดวางของเล่นเป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการนำออกมาเล่น หรือการเก็บเข้าที่ ผู้ปกครองควรอนุญาติให้เด็กเล่นของเล่นทีละอย่างเท่านั้น เมื่อเล่นเสร็จแต่ละชนิดก็นำไปเก็บเข้าที่ก่อนนำชิ้นใหม่มาเล่น ในระยะแรกเด็กอาจจะไม่สามารถทำด้วยตนเองได้ ผู้ปกครองควรช่วยโดยจับมือทำ และให้คำชมทุกครั้งหลังเด็กเก็บของเข้าที่ หลังจากที่เด็กเริ่มเก็บของเข้าที่ได้อย่างคล่องแคล่ว ผู้ปกครองเพียงแต่คอยให้คำชม และส่งเสรม กำกับให้เด็กทำอย่างสม่ำเสมอ
  3. การดูแลตนเองเกี่ยวกับชีวิตประจำวันเช่น การอาบน้ำ แต่งตัว กินอาหารเอง การฝึกสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่เด็ก อายุ 2-3 ปี ระยะแรกที่ที่เด็กเริ่มตักอาหารเอง ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็กฝึกจับช้อน หรือเวลาอาบน้ำควรสอนวิธีถูสบู่ การฝึกเข้าห้องน้ำโดยการบอกเมื่อเด็กปวดปัสสาวะ และการฝึกการขับถ่าย  เมื่ออายุเริ่ม 4 ปี สามารถสอนให้ฝึกล้างก้น ทำความสะอาดล้างมือ แม้กระทั่งการฝึกให้เด็กรับผิดชอบทำการบ้าน หรืออ่านหนังสือก่อนที่จะเล่นเกมส์ ดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์ ดู Youtube สิ่งเหล่านี้เกิดจากการฝึกฝนทั้งสิ้น

การที่ผู้ปกครองวาง หรือจัดตารางกิจกรรมตั้งแต่ตื่นเช้า จนกระทั่งเข้านอนมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพื้นฐานความมีระเบียบวินัยเบื้องต้น ควรใช้การนำกิจกรรมที่เด็กจำเป็นต้องทำ นำมาก่อนสิ่งที่เด็กชอบ เพื่อทำให้ไม่จำเป็นต้องมาใช้วิธีการต่อรองหรือให้รางวัล

  1. ควรสื่อสารกับเด็กอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมาว่าผู้ปกครองต้อง การฝึกให้เด็กสามารถทำตามตารางกิจกรรม หรือฝึกระเบียบวินัยเรื่องใด
  2. สิ่งที่ฝึกฝนนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างไร สำหรับตัวเด็กเอง เช่น การที่เด็กสามารถอาบน้ำแต่งตัว หรือกินอาหารได้ด้วยตนเองนั้น กระบวนการฝึกต้องอาศัยทักษะทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่แข็งแรง ใน การควบคุมตนเองเพื่อให้กิจวัตรประจำวันนั้น
  3. ผู้ปกครองควรควบคุมอารมณ์ ดูแลกำกับพฤติกรรมต่างๆด้วยท่าทีสงบ ไม่เป็นอารมณ์ ยืนยันแบบนุ่มนวล พูดบอกเด็กด้วยท่าทีสงบแต่เอาจริง บางครั้งจำเป็นต้องยืดหยุ่นบ้างแต่ก็อยู่ในขอบเขตของตารางกิจวัตรประจำวัน เช่น เด็กอยากจะกินข้าวก่อนหรือจะอาบน้ำก่อน หลังจากทำ 2 กิจกรรมนี้เสร็จแล้วค่อยไปดูการ์ตูนได้
  4. หากเด็กไม่ทำตามหรือ ไม่ยอม จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปกครองควรหาสาเหตุทุกครั้ง โดยการตั้งคำถามเพื่อให้เด็กได้พิจารณา เช่น วันนี้ แม่สังเกตหนูไม่ได้อาบน้ำ เกิดอะไรขึ้นคะ พอบอกแม่ได้ไหมคะ บางครั้งคำตอบที่ได้ อาจจะทำให้เราเข้าใจเด็กมากขึ้น เช่น หนูมีไข้ไม่สบาย อันนี้ผู้ปกครองจะได้เข้ามาเช็ดตัวลดไข้แทนการอาบน้ำ หรือ หนูดูการ์ตูนเพลินจนลืมไปอาบน้ำ การถามเพื่อให้เด็กแก้ไขปัญหา เช่น แล้วถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกหนูอยากทำอย่างไรดีคะเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น เปิดโอกาสให้เด็กได้ทบทวนและกระตุ้น ให้ไปทำสิ่งที่ต้องทำโดยไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับเด็ก

ตัวอย่างตารางกิจกรรม

6.00 น.  ตื่นนอน อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว
7.00 น.  กินอาหารเช้า
8.00 -10.00  เล่นของเล่น
10.00 น.  ดื่มนม กินอาหารว่าง
11.00-11.30 อ่านหนังสือนิทาน

จากตารางกิจกรรมครึ่งนี้ จะเห็นได้ว่า กิจกรรมที่จำเป็นต้องทำ เช่น อาบน้ำ กินข้าว มาก่อนการเล่นของเล่น ถ้าเด็กไม่สามารถ ทำกิจกรรมดังกล่าวได้เสร็จเด็กก็จะหมดโอกาสในการเล่นของเล่นไปโดยปริยาย แม้กระทั่งในขณะที่เด็กกินข้าวเราสามารถบอกเตือนได้ว่าพอกินข้าวเสร็จ เด็กจะได้เล่นตามตารางกิจวัตรประจำวัน ส่วนหนึ่งเป็นการฝึกการรอคอย (Delay Gratification).

ทั้งนี้การส่งเสริมการมีวินัยตั้งแต่เด็ก ก็เพื่อให้ลูกมีภูมิต้านทางทางด้านอารมณ์ และรู้จักควบคุมความต้องการของตัวเองให้อยู่ในขอบเขต และสามารถแสดงพฤติกรรมต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม เช่น การควบคุมตนเองจากอารมณ์โกรธ  มีเหตุผล มีกระบวนการตัดสินใจที่ดี รู้จักเคารพกฎกติกา ที่จะทำใช้ชีวิตปลอดภัย รู้จักสิทธิของตัวเองและผู้อื่น ไม่เบียดเบียน และมีความรับผิดชอบ ซึ่งจะเป็นมาตรฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมคุณภาพ

ข้อมูลโดย : พญ.ศันสนีย์ เรืองสอน

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จิตเวชเด็กและวัยรุ่น