ในการฝากครรภ์สำหรับคุณผู้หญิงนั้น แท้จริงเริ่มได้ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ โดยเริ่มได้ตั้งแต่ที่คุณผู้หญิงวางแผนจะตั้งครรภ์แล้ว ซึ่งการปรึกษาแพทย์ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์นั้น ก็เพื่อประเมินว่าที่คุณแม่ว่าจะต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษบ้าง เพื่อให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์คุณภาพ โดยแพทย์จะซักประวัติโรคประจำตัวโรคทางกรรมพันธุ์ ยาที่ใช้ ประวัติการแท้ง การคลอดบุตรก่อนกำหนด เพื่อวางแผนการรักษาล่วงหน้า และสร้างความพร้อมให้เหมาะสมกับการตั้งครรภ์
แต่ในความเป็นจริง คุณผู้หญิงส่วนใหญ่มักมาฝากครรภ์ หลังจากทราบว่าตั้งครรภ์แล้ว โดยควรฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ และไม่ควรเกิน 3 เดือน หลังจากมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเป็นอย่างช้า
โดยเมื่อมาฝากครรภ์ในครั้งแรกนั้น แพทย์จะสอบถามประวัติการเจ็บป่วยในอดีต โรคประจำตัว ประวัติการเจ็บป่วยของครอบครัว ประวัติการเจ็บป่วยของสามี ยาที่ใช้อยู่หรือใช้เป็นครั้งคราว รวมถึงการทดสอบการตั้งครรภ์ และอื่นๆ ได้แก่
- การตรวจร่างกาย
- แพทย์จะวัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก ตรวจปัสสาวะตรวจภายในเพื่อวัดขนาดของมดลูกเพื่อประเมินอายุครรภ์ ตรวจวัดความกว้างของช่องเชิงกรานว่ากว้างพอจะคลอดเองได้หรือไม่ รวมถึงการตรวจหามะเร็งปากมดลูก
- การตรวจวินิจฉัยอย่างอื่น
- CBC เพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และดูกลุ่มเลือด ถ้าซีดแพทย์จะให้ยาบำรุงเลือด
- ดูกลุ่มเลือด Rhesus (Rh)
- ตรวจดูว่ามีภูมิต่อโรคหัดเยอรมัน
- ตรวจดูว่ามีภูมิต่อโรคไวรัสตับอักเสบ บี
- ตรวจดูว่ามีภูมิต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่นโรคซิฟิลิส
- ตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่ามีโรคไต หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบหรือไม่
ตารางการตรวจสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์
อายุครรภ์ | การตรวจทางห้องปฏิบัติการเมื่อมีข้อบ่งชี้ |
ฝากครรภ์ครั้งแรก | – CBC – Rh group – ภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดเยอรมัน – ภูมิคุ้มกันต่อโรคไวรัสตับอักเสบ บี – ภูมิคุ้มกันต่อโรคเอดส์ – ภูมิคุ้มกันต่อโรคซิฟิลิส – ตรวจปัสสาวะ การตรวจปัสสาวะหาโรค – ตรวจภายใน |
8-18 สัปดาห์ | – Ultrasound – alpha-fetoprotein – amniocentesis | chorionic villi sampling – ครรภ์เป็นพิษ |
24-48 สัปดาห์ | – CBC – ตรวจเบาหวาน |
32-36 สัปดาห์ | – Ultrasound – syphilis – CBC – Fetal health monitor |
การตรวจพิเศษ | – HIV – Thalassemia |
การตรวจขณะคลอด | การตรวจวัดการเต้นหัวใจเด็ก |
สิ่งที่ควรถามเมื่อไปฝากครรภ์
- กำหนดคลอดจะถึงเมื่อไหร่ เพื่อคุณแม่จะได้เตรียมตัวให้พร้อม
- อาหารการกิน จากการวิจัยพบว่า อาหารการกินส่งผลโดยตรงต่อน้ำหนักและสุขภาพโดยรวมของทารก
- ต้องเสริมกรดโฟลิกหรือไม่ อย่างไร เพราะกรดโฟลิกช่วยสร้างอวัยวะโดยเฉพาะบริเวณสันหลังให้สมบูรณ์
- ยาชนิดใดเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์บ้าง การกินยาขณะตั้งครรภ์คุณแม่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ก่อนใช้ยาต้องสอบถามคุณหมอทุกครั้งแม้จะเป็นยาที่เคยใช้ประจำก็ตาม
- ออกกำลังกายแบบใดได้บ้าง คุณแม่ที่สนใจการออกกำลังกาย ควรปรึกษาจากคุณหมอ
- จะต้องมาตรวจครั้งต่อไปเมื่อไร เพื่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ ต้องมาพบคุณหมอสม่ำเสมอตามนัด
- ต้องตรวจอะไรบ้าง สุขภาพ อายุ โรคประจำตัว ฯลฯ ของคุณแม่แต่ละคนก็แตกต่างกันไป ควรสอบถามคุณหมอให้แน่ชัดว่าต้องตรวจอะไรบ้าง
- อัลตราซาวนด์ต้องตรวจหรือไม่ ส่วนใหญ่คุณหมอจะแนะนำให้อัลตราซาวนด์เพื่อดูการเติบโตของทารกในครรภ์และกำหนดอายุครรภ์ และในกรณีที่จำเป็น เช่น ตั้งครรภ์แฝด หรือคุณแม่มีความเสี่ยงสูง
- สิทธิที่คุณแม่ควรได้รับ หรือสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ เช่น ค่าลดหย่อนในการตรวจครรภ์ การออกใบรับรองแพทย์เพื่อหยุดงานพักงาน ฯลฯ ควรบอกให้คุณหมอทราบด้วย
- สิ่งที่พึงหลีกเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารก เช่น เชื้อโรคจากแมว ควันบุหรี่ การติดเชื้อที่ทำให้แท้งบุตร พิษจากสารเคมี ฯลฯ เลี่ยงอย่างไรให้ปลอดภัย คุณหมอจะให้คำปรึกษาแนะนำได้
- คลอดเองได้หรือไม่ คุณแม่ควรยืนยันแสดงการความตั้งใจให้ชัดเจน
การแจ้งความผิดปกติกับแพทย์
- เลือดหรือน้ำออกจากช่องคลอด
- บวมหน้าและนิ้ว
- ปวดศีรษะอย่างมาก
- คลื่นไส้อาเจียนไม่หาย
- มึนงง
- ตามองไม่ชัด
- ปวดท้องหรือตะคริวหน้าท้อง
- ไข้สูงหนาวสั่น
- เด็กดิ้นน้อยลง
- ปัสสาวะออกน้อยลง
- การเจ็บป่วยอื่นๆ
“การฝากครรภ์” สำคัญมากสำหรับคุณแม่ เพราะการฝากครรภ์นั้นก็เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่และทารกในครรภ์มีสุขภาพดี แข็งแรงตลอดการตั้งครรภ์ หากมีปัญหาหรือสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างนั้น คุณแม่จะได้รีบปรึกษาคุณหมอและเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ต่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
View our Specialists in our Obstetrics Doctors Page
เวลาทำการ
วันจันทร์ – วันพฤหัสบดี เวลา 8.00 – 20.00น. วันศุกร์ เวลา 8.00 – 19.00น. วันเสาร์ เวลา 8.00 – 15.00 น. วันอาทิตย์เวลา 8.00 – 16.00 น. โทรศัพท์ 1715 หรือ 034-417-999 ต่อ 222 / 221