เป็นการรักษารูปแบบใหม่ที่ช่วยลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีภาวะแทรกซ้อนน้อยและโดยเฉลี่ยสามารถลดน้ำหนักได้ประมาณ 20 กิโลกรัมใน 1 ปีโดยการใส่บอลลูนไว้ในกระเพาะอาหารด้วยเทคนิคการส่องกล้อง ทำให้เกิดความรู้สึกอิ่มและรับประทานได้น้อยลง ส่งผลให้ร่างกายนำไขมันส่วนเกินออกมาใช้เป็นพลังงานแทน

สำหรับขั้นตอนการใส่บอลลูน คนไข้จะได้รับยานอนหลับขณะใส่บอลลูนที่เป็นซิลิโคนเข้าไปในกระเพาะอาหาร หลังจากนั้นจะใส่น้ำที่ผสมกับสารสีฟ้าชื่อว่าเมธิลีนบลู (Methylene Blue) ซึ่งเป็นสารที่มีความปลอดภัยและใช้ในวงการแพทย์โดยใส่เข้าไปในบอลลูน ประมาณ 400 – 500 ซีซี แล้วจึงนำเอากล้องออก โดยลูกบอลลูนสามารถ ปรับขนาดเพิ่มหรือลดได้ตามความต้องการในภายหลัง สามารถใส่บอลลูนนานสูงสุด 1 ปี หากพอใจในน้ำหนักที่ลดลงก็สามารถเอาบอลลูนออกก่อน 1 ปีได้ โดยปล่อยน้ำในบอลลูนออกจากกระเพาะอาหาร

image004

BMI ที่เหมาะสมกับการใส่บอลลูน

การคำนวณ BMI (Body Mass Index) หรือดัชนีมวลกายของคุณ คือนำน้ำหนักตัวในหน่วย กิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็น เมตร ยกกำลังสอง

ผู้ที่สามารถใส่บอลลูนลดน้ำหนักได้นั้น ควรมี BMI เกิน 27 กก./ม.2 ในการใส่บอลลูนครั้งแรก ควรปรับขนาดบอลลูนไว้ที่ 500 ซีซี แต่ถ้ารูปร่างคนไข้ไม่สูงใหญ่มาก อาจปรับขนาดลงในช่วง 400 ถึง 450 ซีซีตามความเหมาะสม
การเตรียมตัวก่อนใส่บอลลูน

  • กินยา Miracid (Omeprazole) ก่อนอาหารเช้าและเย็น 14 วัน
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • ตรวจ CBC / Electrolyte
  • หาก BMI เกิน 30 กก./ตร.ม. หรือมีโรคประจำตัวอื่น เช่น ความดันโลหิตสูง หรือเบาหวานให้ตรวจ Blood sugar, Creatinine, Chest X-rayและ EKG (คลื่นไฟฟ้าหัวใจ) เพิ่มเติม
  • ส่องตรวจกระเพาะอาหารเพื่อดูความพร้อมของกระเพาะอาหาร
  • ต้องงดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง งดน้ำเปล่าอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนทำ Gastric Balloon

การประเมินคนไข้ก่อนเข้ารับการผ่าตัด Gastric balloon

แพทย์จะประเมินซักถามคนไข้ก่อนในเรื่องต่างๆ ดังนี้

  • ประวัติโรคประจำตัว เช่น เบาหวานความดัน
  • ยาประจำที่ใช้ประวัติแพ้ยาต่างๆ
  • ประวัติการผ่าตัด
  • ประจำเดือนครั้งสุดท้ายก่อนผ่าตัด
  • ประวัติครอบครัว เคยมีบุคคลในครอบครัวมีปัญหาจากการดมยาสลบหรือไม่
  • ประวัติอาการกรดไหลย้อน
  • ประวัติการนอนกรน ถ้ามีนอนกรนต้องถามว่ามีเครื่องช่วยการหายใจเวลานอนหรือไม่ถ้ามีให้นำติดมาวันทำ Gastric Balloon ด้วยการปฏิบัติตัวหลังใส่บอลลูน
  • Admit 1-2 วัน (อาการคลื่นไส้ อาเจียนประมาณ 2-3 วันแรก ถือว่าเป็นอาการปกติ) แพทย์จะสั่งยาบรรเทาอาการอาเจียนให้รับประทาน
  • 3-7 วันแรก ให้รับประทานอาหารเหลวเช่น ซุป ต้มจืด น้ำผลไม้ นม โยเกิร์ต ซึ่งอาหารต้องไม่ร้อนจัดหรือเย็นจัดเกินไป หลังจากนั้นสามารถรับประทานอาหารปกติแต่ต้องเคี้ยวให้ละเอียดและหยุดรับประทานเมื่ออิ่ม เมื่อรับประทานอาหารปกติได้แล้วให้งดเครื่องดื่มที่มีความหวาน
  • ติดตามอาการกับแพทย์เดือนละ 1 ครั้งหรือห่างกว่านั้นหากอาการปกติดีและน้ำหนักลดลงเป็นที่น่าพอใจ
  • พิจารณาปรับเพิ่มขนาดบอลลูนเมื่อครบ 6 เดือน หากน้ำหนักไม่ลดลงได้ดีพอ
  • ทานยาลดกรด Omeprazole ตลอดเวลาที่ใส่บอลลูน
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ภาวะแทรกซ้อนของการลดน้ำหนักด้วยบอลลูน

ภาวะแทรกซ้อนสำหรับการใส่บอลลูน โดยรวมพบเพียง 0.27% เมื่อเทียบกับการผ่าตัดรัดกระเพาะอาหารที่มีภาวะแทรกซ้อนถึง 7-9% แต่ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของการใช้บอลลูนลดน้ำหนัก คืออาการคลื่นไส้อาเจียน และแน่นท้องในช่วงสัปดาห์แรกหลังใส่บอลลูน
ข้อห้ามในการใส่บอลลูนลดน้ำหนัก

  • เป็นสตรีที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ระหว่างที่ทำการรักษาด้วยบอลลูน
  • มีความผิดปกติของหลอดอาหารกระเพาะอาหาร เช่น เป็นแผลในกระเพาะ กรดไหลย้อนรุนแรง หรือเคยผ่าตัดกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร เป็นต้น
  • แพ้ยางซิลิโคน
  • มีภาวะเลือดออกง่ายหรือรับประทานยาละลายลิ่มเลือด
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงจะเกิดแผลในกระเพาะอาหารสูงอันเนื่องมาจากต้องรับประทานยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs (เช่น aspirin, ibuprofen, diclofenac เป็นต้น) เป็นประจำ
  • คนที่มีโรคประจำตัวรุนแรง

credit Image : http://cmcwls.com/weight-loss-options/lower-bmi-options-gastric-balloon