ธาราบำบัด (Hydrotherapy) คืออะไร

เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการรักษาของเวชศาสตร์ฟื้นฟู โดยใช้คุณสมบัติของน้ำช่วยพยุงร่างกาย ทำให้ไม่ต้องรับน้ำหนักมาก ลดการบาดเจ็บของข้อต่อ และกล้ามเนื้อ ช่วยให้เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระและง่ายขึ้นนอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังได้เป็นอย่างดี โดยมักจะใช้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบในการออกกำลังตามปกติ  เช่นกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กพิเศษ กลุ่มโรคพิเศษ เป็นต้น เนื่องจากน้ำจะช่วยในการทรงตัว ส่งผลให้เพิ่มความมั่นใจในการเคลื่อนไหว  กล้าเคลื่อนไหวมากขึ้น ปลอดภัย และร่างกายผ่อนคลาย

ข้อดีของ ธาราบำบัด สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

  1. หญิงตั้งครรภ์ช่วง อายุครรภ์ 13-24 สัปดาห์ มักจะมีอาการปวดหลังส่วนล่าง เนื่องจากครรภ์ที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเฉียบพลัน ส่งให้เกิดอาการปวดเข่าและขาทั้ง 2 ข้าง จากการต้องรับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น และมักมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้า  ซึ่งธาราบำบัดช่วงนี้ จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาและหลัง ส่งผลให้สามารถรับน้ำหนักของร่างกายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้ และยังสร้างความผ่อนคลาย ทำให้ร่างกายสดชื่น
  2. หญิงตั้งครรภ์ช่วงอายุครรภ์ 24-38 สัปดาห์ จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก ทำให้รู้สึกอึดอัด หายใจสั้นตื้น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกอ่อนเพลีย จากการนอนที่ไม่มีคุณภาพ มือเท้าบวม  การไหลเวียนเลือดไม่สะดวก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ โดยการทำธาราบำบัดช่วงนี้ จะช่วยอาการเครียด วิตกกังวล เพิ่มความผ่อนคลาย ทำให้นอนหลับได้สนิทยิ่งขึ้น แรงดันของน้ำจะช่วยทำให้การบวมที่ข้อเท้าและเส้นเลือดขอดลดลงได้ และยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะอุ้งเชิงกราน ให้ว่าที่คุณแม่ สามารถคลอดลูกได้ง่ายขึ้น ลดความเจ็บปวดระหว่างคลอดได้ อีกทั้งยังทำให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วภายหลังคลอด
  3. ขณะที่คุณแม่เคลื่อนไหวในน้ำ หรือออกท่าทางในน้ำอย่างเชื่องช้าและนุ่มนวลนั้น ลูกน้อยในท้องสามารถรับรู้ได้และก็จะเคลื่อนไหวตามคุณแม่เช่นกัน เหมือนได้ออกกำลังกายไปพร้อมกัน ทั้งยังได้พัฒนาเส้นใยสมองส่วนการรับรู้ความรู้สึก และความรู้สึกของคุณแม่ที่ผ่อนคลาย เย็นสบาย แจ่มใส ก็จะส่งผลให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดีตามอารมณ์ของคุณแม่อีกด้วย

ระเบียบปฏิบัติตนก่อนลง ธาราบำบัด

  • ต้องผ่านการตวจประเมินร่างกายและการประเมินสัญญาณชีพโดยแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดก่อนลงสระทุกครั้ง โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องมีสุขภาพแข็งแรง กรณีมีครรภ์แฝด, ครรภ์เป็นพิษ, ความดันโลหิตสูง, ลมชักรุนแรง, มีอาการแทรกซ้อน, รกเกาะต่ำให้แจ้งเจ้านักกายภาพบำบัด เพื่อการดูแลเป็นพิเศษ
  • ขณะลงสระต้องมีนักกายภาพบำบัด เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือผู้ป่วย ญาติ หรือผู้เกี่ยวข้องดูแลทุกครั้ง
  • ห้ามบ้วนน้ำลาย เสมหะ หรือปัสสาวะในน้ำ
  • ห้ามผู้มีบาดแผลฝีหนองหรือแผลเปิดที่มีโอกาสติดเชื้อหรือแพร่กระจายเชื้อเข้าใช้บริการสระโดยเด็ดขาด
  • สวมชุดว่ายน้ำ หมวกคลุมผม ในการลงสระและทำความสะอาดร่างกายก่อนลงสระทุกครั้ง
  • กรณีผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ต้องแจ้งนักกายภาพบำบัดและใส่ผ้าอ้อมกันน้ำก่อนลงสระทุกครั้ง
  • หากมีทรัพย์สิน สิ่งของมีค่าเครื่องประดับ ควรเก็บไว้ในล็อคเกอร์ หากมีการสูญหายทางโรงพยาบาลฯ จะไม่รับผิดชอบ
  • ห้ามนำอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่ใช่อุปกรณ์สำหรับใช้ในสระว่ายน้ำเช่น ไม้เท้า รถเข็น ลงในสระเด็ดขาด
  • ห้ามนำอาหารทุกชนิดเข้าไปรับประทานในบริเวณสระ
  • ห้ามนำสัตว์ทุกชนิดเข้าไปในบริเวณสระ
  • ปฏิบัติตนสุภาพเรียบร้อย เช่น ไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น
  • ปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ทำตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัดหรือเจ้าหน้าที่ประจำสระ

การเตรียมตัวก่อนลงธาราบำบัด

  • ควรมาก่อนเวลานัด 30 นาที (หากมาไม่ตรงตามเวลานัดหมาย ท่านจะได้รับบริการตามเวลาที่เหลือ ตามเวลานัดของท่าน)
  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
  • ควรรับประทานอาหารก่อนลงสระอย่างน้อย 1- 2 ชั่วโมง
  • กรณีที่ต้องการเลื่อนนัด ควรโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนถึงวันนัดอย่างน้อย 1 วัน

อุปกรณ์ที่ต้องนำมา

  • ชุดว่ายน้ำ
  • หมวกคลุมผม
  • ถุงใส่ผ้าเปียก
  • ผ้าเช็ดตัว
  • อุปกรณ์สำหรับอาบน้ำ

ข้อควรระวังและข้อห้ามของผู้ใช้บริการ

  • มีไข้สูง
  • เป็นโรคผิวหนังระยะติดต่อ มีแผลติดเชื้อต่างๆ เช่น โรคเชื้อราที่เท้า, หูด, เชื้อราที่หนังศีรษะ หรือกลาก เป็นต้น
  • มีภาวะของการติดเชื้อทุกประเภท เช่น หูอักเสบติดเชื้อ, เจ็บคอ, ไข้หวัดใหญ่, การติดเชื้อระบบการย่อยและทางเดินอาหาร, ไข้ไทฟอยด์, อหิวาตกโรค, โรคไขสันหลังอักเสบ, โปลิโอ, โรคบิด เป็นต้น
  • มีความผิดปกติทางระบบหัวใจและไหลเวียนของเลือด เช่น ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ โรคระบบหลอดเลือดหรือภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการฉายแสงและรังสีเอ็กซเรย์เพื่อการรักษา (Deep X-ray)
  • ผู้มีปัญหาทางระบบขับถ่าย ซึ่งอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมการสูญเสียของเหลวในร่างกาย
  • ผู้มีประวัติโรคลมชัก ลมบ้าหมู แก้วหูทะลุ

การออกกำลังกายสำหรับคุณสุภาพสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ เป็นเรื่องที่เหมาะสม และควรทำอย่างยิ่ง แต่ควรเลือกรูปแบบกิจกรรมที่ตรงกับความชอบ และสภาพร่างกายด้วย เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์ถือเป็นผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ  ไม่ว่าจะเป็นการเต้นแอโรบิค โยคะ เต้นรำ ขี่จักรยาน สามารถทำได้ แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และอยู่ภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ  ซึ่งการออกกำลังกายในน้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก  โดยทางศูนย์กายภาพบำบัด ได้จัดเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายในน้ำโดยเฉพาะ พร้อมสระว่ายน้ำ ระบบน้ำอุ่น แบบ UV Ozone ในร่ม ซึ่งมีมาตรฐานเทียบเท่าน้ำดื่ม ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์วางใจได้ในมาตรฐาน ความสะอาด และความปลอดภัย  และผลที่จะได้รับ

ข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์กายภาพบำบัด โทร. 1715 ต่อ 424, 425