ไข้หวัดใหญ่พบมากทุกอายุ โดยเฉพาะในเด็กจะพบมากเป็นพิเศษ แต่อัตราการตายมักจะพบในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ โรคปอด โรคไต เป็นต้น การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่ป้องกันได้ผลมากที่สุด สามารถลดอัตราการติดเชื้อ ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล ลดโรคแทรกซ้อน และลดการหยุดงาน
ไข้หวัดใหญ่เป็นการติดเชื้อที่เรียกว่า influenza virusเป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจซึ่งอาจจะลามลงไปปอด ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างเร็ว  ไข้สูงกว่าไข้หวัด ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียอย่างฉับพลัน

ในปี คศ.2003 ได้มีการแนะนำเรื่องไข้หวัดใหญ่ดังนี้

  1.  ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนคือเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน(เนื่องจากเชื้อนี้มักจะระบาดในต่างประเทศ หากประเทศเราจะฉีดก็น่าจะเป็นช่วงเดียวกัน) โดยเน้นไปที่ประชาชนที่มีอายุ 50 ปี,เด็กอายุ 6-23 เดือน,คนที่อายุ 2-49 ปีที่มีโรคประจำตัวกลุ่มนี้ให้ฉีดในเดือนตุลาคม ส่วนกลุ่มอื่น เช่นเด็ก เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ผู้ดูแลคนป่วย กลุ่มนี้ให้ฉีดเดือนพฤศจิกายน
  2. เด็กที่อายุ 6-23 เดือนควรจะฉีดทุกรายโดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย
  3. ชนิดของวัคซีนที่จะฉีดให้ใช้ชนิดที่มีส่วนผสมของเชื้อ A/Moscow/10/99 (H3N2)-like, A/New Caledonia/20/99 (H1N1)-like, และ B/Hong Kong/330/2001
  4. ให้ลดปริมาณสาร thimerosal ซึ่งเป็นสารปรอท

การติดต่อ

เชื้อนี้จะติดต่อได้ง่ายการติดต่อสามารถติดต่อได้โดย

  1. เชื้อสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งโดยการหายใจได้รับน้ำมูกหรือเสมหะของผู้ป่วยโดยเชื้อจะผ่านเข้าทางเยื่อบุตา จมูกและปาก
  2. การที่คนได้สัมผัสสิ่งที่ปนเชื้อโรคเช่นผ้าเช็ดหน้า ช้อน แก้วน้ำ การจูบ
  3. การที่มือไปสัมผัสเชื้อแล้วขยี้ตาหรือเอาเข้าปาก

อาการของโรค

  1. ไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน ระยะฟักตัว 1-4วัน โดยเฉลี่ย 2 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียอย่างฉับพลัน  เบื่ออาหาร คลื่นไส้  ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดตามแขนขา ปวดข้อ ปวดรอบตาไข้สูง 39-40 ํ c  เจ็บคอและคอแดงมีน้ำมูกใสไหล ไอแห้งๆ  ตามตัวจะร้อน แดง ตาแดง อาการอาเจียน หรือท้องเดิน ไข้เป็น 2-4 วันแล้วค่อยๆลดลงแต่อาการคัดจมูก และแสบคอยังคงอยู่โดยทั่วไปจะหายใน 1 สัปดาห์
  2. สำหรับรายที่เป็นรุนแรงมักเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อนมักจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ระบบอื่นด้วยเช่น อาจพบการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก หรืออาการหัวใจวาย ผู้ป่วยจะเหนื่อยหอบ ระบบประสาท พบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และสมองอักเสบผู้ป่วยจะปวดศีรษะมาก และซึมลง ระบบหายใจ มีหลอดลมอักเสบ และปอดบวมผู้ป่วยจะแน่นหน้าอก และเหนื่อย โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่มักจะหายในไม่กี่วัน แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายมีอาการไอ และปวดตามตัวนาน 2 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่เสียชีวิตมักจะเกิดจากปอดบวม และโรคหัวใจหรือโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่

ะยะติดต่อ

  • ระยะเวลาที่ติดต่อคนอื่นคือ 1 วันก่อนเกิดอาการ
  • ห้าวันหลังจากมีอาการ
  • ในเด็กอาจจะแพร่เชื้อ 6 วันก่อนมีอาการ และแพร่เชื้อได้นาน 10 วัน

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่จะอาศัยประวัติและการตรวจร่างกายเป็นหลักโดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของเชื้อ การวินิจฉัยที่แน่นอนอาจจะทำได้ 2 วิธีคือ

  1. นำไม้พันสำลีแหย่ที่คอหรือจมูกแล้วนำไปเพาะเชื้อ
  2. เจาะเลือดตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโดยต้องเจาะ 2 ครั้งห่างกัน 2 ชั่วโมงแล้วเปรียบการเพิ่มของภูมิต่อเชื้อ
  3. การตรวจหา Antigen
  4. การตรวจโดยวิธี PCR,Imunofluorescent

โรคแทรกซ้อน

  1. ติดเชื้อแบคทีเรีย อาจจะทำให้ปอดบวม ฝีในปอด หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด
  2. ไข้หวัดใหญ่ในหญิงมีครรภ์ ผลต่อมารดามักเป็นชนิดรุนแรงและมีอาการมาก ผลต่อเด็กอาจจะทำให้แท้ง

การรักษา

  • ไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนท่านผู้อ่านสามารถดูแลตัวเองที่บ้าน
  • ให้นอนพักไม่ควรออกกำลังกาย
  • ให้ดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้หรือน้ำซูปหรืออาจจะดื่มน้ำเกลือแร่ร่วมด้วยแต่ไม่ควรดื่มน้ำเปล่าอย่างเดียวเพราะจะทำให้ท่านขาดเกลือแร่ได้ หรืออาจจะเตรียมโดยใช้น้ำข้าวใส่เกลือและน้ำตาลก็ได้
  • การรักษาตามอาการ และการประคับประคอง
  • ลดไข้ด้วยยาลดไข้ เช่น paracetamolไม่ควรให้ aspirinในคนที่มีอายุน้อยกว่า 16 ปีเพราะอาจจะทำให้เกิด Reye syndrome
  • ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ
  • ถ้าไอมากอาจจะซื้อยาแก้ไอรับประทาน
  • สำหรับผู้ที่เจ็บคออาจใช้น้ำ1แก้วผสมกับเกลือ 1 ช้อนกรวกคอแต่ห้ามดื่ม
  • สำหรับท่านที่มีอาการคัดจมูกอาจจะใช้ไอน้ำช่วยวิธีง่ายคือต้มน้ำร้อนแล้ให้นั่งหน้ากาน้ำเอาผ้าคลุมศีรษะและสูดดมไอน้ำ อาจจะใส่ vick หรือขิงลงไปเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก
  • อย่าสั่งน้ำมูกแรงๆเพราะจะทำให้เชื้อลุกลาม
  • ใหล้างมือบ่อยๆเมื่อออกนอกบ้าน ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไขหวัดใหญ่ให้หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ ลูกบิดประตู เป็นต้น
  • เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือ ทิชชูปิดปาก
  • ช่วงที่มีการระบาดให้หลีกเลี่ยงจากที่สาธารณะ

ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อไร

ไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้และท่านสามารถดูแลตัวเองที่บ้านแต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวท่าน

ในเด็กควรจะปรึกษาแพทย์เมื่อ

  • ไข้สูงและเป็นนาน
  • ให้ยาลดไข้แล้วไข้ยังเกิน 38.5ํ c
  • หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก
  • มีอาการมากกว่า 7 วัน
  • ผิวสีม่วง
  • เด็กดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารไม่พอ
  • เด็กซึมลง ไม่เล่น
  • เด็กไข้ลดลง แต่หายใจหอบ

สำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นไข้หวัดใหญ่

  • ไข้สูงและเป็นมานาน
  • หายใจลำบาก หรือหายใจหอบ
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอก
  • หน้ามืดเป็นลม
  • สับสน
  • อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้

ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรพบแพทย์ทันทีที่เป็นไข้หวัดใหญ่เนื่องจากโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้แก่

  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวเช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต เบาหวาน หอบหืด มะเร็งเป็นต้น
  • คนท้อง
  • ผู้ป่วยโรคเอดส์
  • ผู้ทีพักในสถานเลี้ยงคนชรา
  • ผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี

ผู้ป่วยไขหวัดใหญ่ที่มีอาการต่อไปนี้ต้องเข้าโรงพยาบาล

  • มีอาการขาดน้ำไม่สามารถดื่มน้ำได้อย่างเพียงพอ
  • ไอแล้วเสมหะมีเลือดปน
  • หายใจลำบาก หายใจหอบ
  • สีริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีเขียว
  • ไข้สูงมากผู้ป่วยเพ้อ
  • มีอาการไข้ และไอหลังจากที่อาการไข้หวัดใหญ่หายไปแล้ว

ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะหายใน 2-3 วัน ไข้จะหายใน 7 วัน อาการอ่อนเพลียอาจจะอยู่ได้นาน1-2 สัปดาห์

การป้องกัน

  • ล้างมือบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปากหรือขยี้ตา
  • อย่าใช้ของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น เช่นผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด เมื่อเวลาเจ็บป่วย
  • ให้พักที่บ้านเมื่อเวลาป่วย
  • เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าปิดปากและจมูก

โดยการฉีดวัคซีน

การป้องกันที่ดีคือการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อที่ตายแล้วโดยฉีดที่แขนปีละครั้ง หลังฉีด 2สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจึงจะสูงพอป้องกันการติดเชื้อแต่การฉีดจะเลือกผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนคือ

  • ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี
  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวเช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคตับ
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยโรคเอดส์
  • หญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนขึ้นไปและมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่
  • ผู้ที่อาศัยในสถานเลี้ยงคนชรา
  • เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
  • สมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคเรื้อรัง
  • นักเรียนที่อยู่รวมกัน
  • ผู้ที่จะไปเที่ยวยังแหล่งระบาดของไข้หวัดใหญ่
  • ผู้ที่ต้องการลดอัตราการติดเชื้อ

การใช้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่เพื่อรักษา

  • Amantadine and Ramantadine เป็นยาที่ใช้ในการป้องกันและรักษาไวรัสไๆข้หวัดใหญ่ชนิด A ไม่ครอบคลุมชนิด B
  • Zanamivir Oseltamivir เป็นยาที่รักษาได้ทั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งชนิด A,B
  • การให้ยาภายใน 2 วันหลังเกิดอาการจะลดระยะเวลาเป็นโรค

การให้ยาเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่

ยาที่ได้รับการรับรองว่าใช้ป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้แก่ Amantadine Ramantadine Oseltamivir วิธีการป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีน แต่ก็มีบางกรณีที่จำเป็นต้องให้ยาเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่

  • ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับวัคซีนไม่ทัน ทำให้ต้องได้รับยาในช่วงที่มีการระบาดของโรค
  • ผู้ที่ดูดแลกลุ่มเสี่ยงและไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ควรจะได้รับยาในช่วงที่มีการระบาดของโรค
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่นโรคเอดส์
  • กลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและไม่อยากเป็นโรค

ศูนย์ตรวจสุขภาพ

เวลาทำการเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น.
การนัดหมาย และติดต่อสอบถาม โทรศัพท์ 034-417-999 หรือ สายด่วน 1715 ต่อ 122, 124 โทรสาร 034-417-906