การทำเด็กหลอดแก้ว (In-vitro Fertilization)
จะเป็นการนำไข่มาผสมกับเชื้ออสุจิภายนอกร่างกาย หากได้ไข่เพียง 1 ใบตามรอบธรรมชาติ โอกาสตั้งครรภ์ในรอบนั้นๆจะต่ำ จึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นไข่เพื่อให้ได้ไข่หลายใบในรอบการกระตุ้นนั้นหากได้ไข่จำนวนมากจะทำให้มีโอกาสได้ตัวอ่อนจำนวนมากขึ้น เมื่อได้ตัวอ่อนจำนวนมากจะทำให้มีตัวอ่อนย้ายกลับเข้าโพรงมดลูกจำนวนมาก โอกาสการตั้งครรภ์ในรอบการกระตุ้นไข่นั้นจะเพิ่มมากขึ้น
การทำเด็กหลอดแก้ว ประกอบด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้
- การกระตุ้นรังไข่
- การเก็บไข่
- การทำให้เกิดการปฏิสนธิ
- การย้ายตัวอ่อน
- การดูแลหลังการย้ายตัวอ่อน
ตามธรรมชาติ รังไข่ของผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ จะมีไข่ประมาณ 300,000 – 500,000 ใบ ในแต่ละรอบเดือนรังไข่จะคัดเลือกไข่มาจำนวนหนึ่ง (ประมาณ 20 ใบ)เพื่อเจริญไปเป็นไข่ที่สมบูรณ์ โดยจะมีไข่ที่สมบูรณ์และตกไข่เพียง 1 ใบ ใบที่เหลือที่เจริญมาพร้อมกันจะฝ่อไป โดยตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์จะมีไข่ที่โตเต็มที่และตกไข่ไปเพียง 400-500 ใบ
1. การกระตุ้นรังไข่
โดยหลักการแล้ว คือ การกระตุ้นให้ไข่ที่ร่างกายคัดเลือกมาจำนวนหนึ่งในรอบนั้นๆไม่ฝ่อไป มีการเจริญเติบโต และพร้อมตกไข่ครั้งละหลายใบ ในช่วงการกระตุ้นไข่นี้จะมีการใช้ยาอยู่ 2 ชนิด คือ ยากระตุ้นรังไข่ และยาป้องกันไข่ตกก่อนวันเก็บไข่โดยปกติการกระตุ้นไข่ ทำโดยการฉีดยาทุกวัน ใช้เวลาประมาณ 10-12 วัน ระหว่างการกระตุ้นไข่ จะมีการตรวจติดตามการเจริญของไข่โดยตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด และตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนเพื่อประเมินการตอบสนองของยาและปรับขนาดยา เมื่อไข่โตจนมีขนาดประมาณ 18-20 มิลลิเมตร มากกว่า 3 ใบ แพทย์จะนัดเก็บไข่ โดยให้ยาฉีดเพื่อกระตุ้นให้ไข่ตก และนัดเก็บไข่หลังจากฉีดยาให้ตกไข่แล้ว 34 – 36 ชั่วโมง
2. การเก็บไข่
จะทำในห้องผ่าตัด โดยจะมีการให้ยาสลบอ่อนๆ แพทย์จะเก็บไข่ทางช่องคลอด โดยใช้เข็มเก็บไข่แทงผ่านผนังช่องคลอดพร้อมกับการดูภาพ Ultrasound เพื่อเป็นตัวบอกแนวของเข็มที่จะเจาะดูดไข่ออกมา หลังจากเก็บไข่ ผู้ป่วยจะได้รับการเฝ้าสังเกตุอาการต่อที่ห้องพักฟื้น 1 – 2ชั่วโมง หลังเก็บไข่อาจมีอาการปวดท้องน้อยได้ ซึ่งอาการจะหายไปเองประมาณ 1-2 วัน โดยผู้ป่วยควรนอนพักผ่อน ในวันเก็บไข่ สามีต้องมาเก็บน้ำอสุจิโดยวิธีการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง จากนั้นนำน้ำอสุจิที่เก็บได้ ส่งห้องปฏิบัติการภายใน 1 ชั่วโมงนักวิทยาศาสตร์จะนำน้ำอสุจินี้ไปผ่านกระบวนการเตรียมน้ำอสุจิเพื่อเตรียมผสมกับไข่ในห้องปฏิบัติการ
3. การทำเด็กหลอดแก้วให้เกิดการปฏิสนธิ มี 2 แบบ คือ
- In vitro fertilization (IVF) คือ การผสมไข่กับอสุจิที่ผ่านขั้นตอนการเตรียมน้ำอสุจิแล้ว
- Intracytoplasmic sperm injection (ICSI) คือการเลือกตัวอสุจิที่มีลักษณะปกติมาเพียง 1 ตัวฉีดเข้าเซลล์ไข่ วิธีนี้ใช้ในกรณีที่ฝ่ายชายมีปัญหาน้ำเชื้ออสุจิอ่อน
ในปัจจุบันนิยมทำ ICSI มากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้ออสุจิผ่านเข้าไปในเซล์ไข่แน่นอนและหากต้องการตรวจวินิจฉัยหรือคัดกรองพันธุกรรมก่อนการฝังตัว (PGD, PGS) จำเป็นต้องทำ ICSI เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของอสุจิตัวอื่น ซึ่งจะมีผลต่อการแปลผลการตรวจ PGD หรือ PGS ได้ หลังการปฏิสนธิ จะเลี้ยงตัวอ่อนไปจนถึงระยะที่เหมาะสมต่อการย้ายกลับเข้าโพรงมดลูก คือ ประมาณ 2-5 วัน หลังเก็บไข่
4. การย้ายตัวอ่อน การย้ายตัวอ่อนโดยผ่านทางปากมดลูก โดยมี 2 แบบคือ
- การย้ายตัวอ่อนรอบสด คือ ย้ายตัวอ่อนประมาณ 2-5 วัน หลังเก็บไข่ วิธีนั้นมักใช้กรณีที่มีตัวอ่อนจำนวนน้อย
- การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง คือ ตัวอ่อนที่ได้จะทำการแช่แข็งไว้ก่อน วิธีการนี้ใช้กรณีได้ตัวอ่อนหลายตัว, เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์,เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป และตัวอ่อนที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนการย้ายตัวอ่อน (Pre-Implantation Genetic Diagnosis; PGD)
**หรือได้รับการตรวจคัดกรองพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนการย้ายตันอ่อน (Pre-implantation genetic screening; PGS)
การย้ายตัวอ่อน แพทย์จะให้ยาเตรียมโพรงมดลูกและนัดวันย้ายตัวอ่อน (ในกรณีตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้ก็จะเตรียมโพรงมดลูกให้ผู้ป่วยในรอบเดือนถัดไป)ขณะย้ายตัวอ่อน ผู้ป่วยปฏิบัติตัวคล้ายกับการตรวจภายในปกติตัวอ่อนที่เหลือจากการปฏิสนธินอกร่างกายจะแช่แข็งไว้ เพื่อใช้ในโอกาสต่อไป
5. การดูแลหลังการย้ายตัวอ่อน
- ผู้ป่วยต้องพักผ่อน และใช้ยาฮอร์โมนเพื่อช่วยการฝังตัวของตัวอ่อนโดยจะนัดมาตรวจวัดระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ในเลือดประมาณ 12-14 วันหลังจากการใส่ตัวอ่อน
- หากตั้งครรภ์แพทย์จะให้ยาเพื่อผยุงการตั้งครรภ์ต่อและให้ฝากครรภ์
- หากไม่ตั้งครรภ์แพทย์จะตรวจหาสาเหตุและปรึกษาการรักษาร่วมกันเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ในรอบถัดไป
*การตรวจวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนการย้ายตัวอ่อน (Pre-Implantation Genetic Diagnosis; PGD)
คือกระบวนการตรวจพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก โดยการดึงเซลล์จากตัวอ่อน 3-5 เซลล์ ไปทำการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งวิธีการนี้ใช้ตรวจโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากยีนเดี่ยวจากบิดาหรือมารดาที่เป็นพาหะของโรค เช่น เบต้า-ธาลัสซีเมีย, ชีสติกไฟโบรซิส, อันติงตันส์ดิชีส และโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมอื่นๆอีกหลายโรค กล่าวโดยสรุปแล้ว การตรวจ PGD ใช้เพื่อป้องกันการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมจากพ่อหรือแม่ที่เป็นพาหะของโรคไปสู่ลูก
**การตรวจคัดกรองพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนการย้ายตัวอ่อน (Pre-implantation genetic screening; PGS)
คือกระบวนการตรวจคัดกรองจำนวนแท่ง chromosome ของตัวอ่อน ในคู่สมรสที่ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้ว หรือตั้งครรภ์แล้วเกิดการแท้ง เป็นผลจากตัวอ่อนมีจำนวนแท่ง chromosome ผิดปกติ ดังนั้นหากมีการตรวจจำนวน chromosome และย้ายตัวอ่อนที่มี chromosome ปกติ จะช่วยเพิ่มความสำเร็จในการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยวิธีเด็กหลอดแก้วได้
กล่าวโดยสรุป คือ การตรวจ PGS มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์และลดอัตราการแท้ง วิธีการนี้จึงเหมาะกับ สตรีที่อายุมาก, มีประวัติแท้งบุตรตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป, ไม่ตั้งครรภ์ติดต่อกัน 2 ครั้งจากการทำเด็กหลอดแก้ว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ศูนย์ผู้มีบุตรยาก ชั้น 2 โทร. 034-417-999 ต่อ 221, 222, 158 หรือ สายด่วน 1715