ภาวะ “Long Covid”
คืออาการที่หลงเหลือจากการติดเชื้อ Covid-19 หลังจากหายจากโรคไปแล้วไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์ เกิดได้ประมาณ 30 – 50 % ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด พบได้ทุกช่วงอายุ และทุกความรุนแรงของโรค กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญได้แก่
- เพศหญิง
- ผู้สูงอายุ
- ผู้มีภาวะอ้วน
- ผู้มีโรคประจำตัว
อาการนั้นมีความแตกต่างในแต่ละคนและมีหลากหลายในตัวทุกระบบในร่างกาย เกิดได้นานตั้งแต่ 4 – 12 สัปดาห์ และอาจจะพบได้มากกว่า 1 อาการ
อาการมีได้ตั้งแต่ อาการทางระบบทางเดินหายใจที่เหมือนตอนป่วยโควิด แต่เป็นเรื้อรังไม่หาย เช่น
- ไอเรื้อรัง
- เจ็บหน้าอก
- เหนื่อยง่าย
หรืออาจจะเป็นอาการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น
- ไม่มีแรง อ่อนเพลีย
- ใจสั่น
- นอนไม่หลับ
- ผมร่วง
- การรับรสของจมูกและกลิ่นมีปัญหา
- ท้องเสียปวดท้อง
- ความจำที่ไม่ดี
- รู้สึกสมองไม่โล่ง
- ขาดสมาธิในการทำงาน
- อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า เป็นต้น
การป้องกัน Long Covid ที่สำคัญก็คือ การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโควิดด้วยการดูแลตัวเอง
- สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกไปในที่ชุมชน
- ล้างมือบ่อยๆ
- ฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19
Long Covid นั้น แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีการรักษาจำเพาะ แต่อาการที่เกิดขึ้นบางอย่าง แพทย์สามารถดูแลและบรรเทาอาการเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยได้ โดยทำร่วมกับการปฏิบัติตัวให้ถูกสุขลักษณะ เช่น
- ควรที่จะต้องฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ
- เสริมสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง
- พักผ่อนให้เพียงพอออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนสูง และกากใยสูง เพื่อช่วยระบบย่อยอาหารนั้นทำงานได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ การทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูระบบทางเดินหายใจ และฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ก็ช่วยทำให้ร่างกายกลับมาใกล้เคียงปกติ ได้ไวขึ้น
ในผู้ป่วยบางราย หากมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบากไม่ดีขึ้น การตรวจเอกซเรย์คอมพิมเตอร์ (CT lung parenchyma) ก็ช่วยดูได้ละเอียดมากขึ้นว่ามีเนื้อปอดอักเสบมากน้อยเพียงใด โดยทำควบคู่กับการตรวจสมรรถภาพปอด เพื่อหาสาเหตุอื่นที่อาจจะพบได้ และเป็นการวางแผนการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพปอดให้ดีขึ้นในอนาคต
ขอบคุณบทความโดย
พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน ทางเดินหายใจและปอด ( ทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ) ประจำโรงพยาบาลเอกชัย
บทความ