ภาวะตัวเหลืองในทารก  หมายถึง ทารกที่มีระดับบิลิรูบินในเลือดสูงซึ่งจะมีอาการตัวเหลืองปรากฏให้เห็นที่ผิวหนัง เปลือกตา และเล็บ ส่วนใหญ่จะไม่เหลืองในวันแรกเกิด แต่จะค่อยๆเหลืองมากขึ้นช้าๆในวันที่ 2 และ 3 และสูงสุดในวันที่ 4 และจะเริ่มลดลงอย่างช้าๆในวันที่ 5 และ 6

อาการ

สารบิลิรูบิน  จะอยู่ในกระแสเลือดและไปจับตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย ผิวหนังทารกจึงเป็นสีเหลือง ตาขาวจะมีสีเหลืองและหากระดับบิลิรูบินสูงเกินไป จะไปจับกับเซลล์สมอง อาจทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น ซึม ไม่ดูดนม ร้องเสียงแหลม ชัก เกร็ง หลังแอ่น ทารกมีปัญญาอ่อน พิการ หูหนวกตามมาได้

สาเหตุ

1.มีการสร้างบิลิรูบินมากเกินไป ได้แก่

  • การแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ
  • หมู่เลือดของมารดาและทารกไม่เท้ากัน
  • ภาวะเลือดออก เช่น จุดเลือกออกในสมอง
  • ภาวะเลือดแดงข้นมากเกินไป
  • การอุดตันในระบบทางเดินอาหาร หรือ การเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง

2.การขับถ่ายบิลิรูบินลดลง ได้แก่

  • ภาวะท่อน้ำดีอุดตัน
  • ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง

3.การสร้างบิลิรูบินมากขึ้นร่วมกับการขับถ่ายลดลง ได้แก่

  • การติดเชื้อในครรภ์
  • การติดเชื้อของทารกในระยะแรกเกิด

4.สาเหตุอื่นๆได้แก่

  • ตัวเหลืองจากนมแม่ อาจเหลืองนาน 7-10 วัน
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • โรคบางอย่างที่ยับยั้งการขับถ่ายบิลิรูบิน

การรักษา

1.การรักษาด้วยแสง

จะใช้แสงฟลูออเรสเซนต์ส่องที่ผิวหนังทารก ซึ่งแสงไฟจะสลายบิลิรูบินแล้วถูกขับออกมากับอุจจาระ และบางส่วนออกมาขับปัสสาวะ  การรักษาด้วยแสงมีผลข้างเคียงดังนี้

  • ถ่ายเหลวสีเขียวคล้ำ และบ่อยครั้ง
  • มีผื่นแดงตามตัว ผิวหนังแห้งและลอก
  • มีไข้ ขาดน้ำ
  • ท้องอืด
  • ผิวหนังมีสีน้ำตาลดำ(บรอนซ์เบบี้)

2.การรักษาด้วยยา

โดยใช้ยาจำพวก BABITURATE เช่น PHENOBARB ทำให้ตับสามารถขับบิลิรูบินได้มากขึ้น การใช้ยาอาจทำให้ทารกซึมได้

3.การเปลี่ยนถ่ายเลือด

การเปลี่ยนถ่ายเลือดจะใช้เลือดที่เก็บไว้ไม่เกิน 3 วัน โดยแพทย์จะเป็นผู้ทำการรักษา ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ร้อยละ 1 มีดังนี้

  • หัวใจวาย
  • การติดเชื้อ
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

วิธีการสังเกตอาการตัวเหลืองของทารก

  1. สังเกตอาการอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เมื่อทารกตื่นและลืมตา โดยวางทารกบนผ้าขาวในที่มีแสงสว่างเพียงพอ
  2. ประเมินความเหลืองที่ผิวหน้า โดยใช้นิ้วกรีดไล่เลือดที่ฝ่าเท้าทารก แล้วเปรียบเทียบความเหลืองใบหน้าหรือหน้าอกทารก
  3. หากว่าใบหน้าและหน้าอก และฝ่าเท้าเหลืองเท่ากัน หรือตาขาวเหลืองชัดเจน แสดงว่าทารกมีอาการตัวเหลืองผิดปกติ ควรรีบนำไปพบแพทย์

ปัญหาภาวะตัวเหลือง  ในทารกแรกเกิดส่วนใหญ่ป้องกันได้ การวินิจฉัยและการดูแลรักษาที่เหมาะสมจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ความพิการ และการสูญเสียชีวิตของทารก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์เด็กสุขภาพดี
โทร. (034) 417-999 ต่อ 9221, 9212 สายด่วน 1715