ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) คือ กลุ่มอาการปวดเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณหลัง คอ บ่าทั้งสองข้าง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปถึงบริเวณศีรษะ ชาฝ่ามือ หรืออาจมีอาการนิ้วล็อกได้ อาการเหล่านี้มักมีสาเหตุมาจากการนั่งทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าเดิมๆ ซ้ำๆ หรืออยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ไม่มีการขยับเคลื่อนไหวร่างกายนานหลายชั่วโมง จึงทำให้มีอาการปวดเรื้อรัง ซึ่งโรคออฟฟิศซินโดรมนี้ถือเป็นโรคยอดฮิตของกลุ่มคนในวัยทำงาน เพราะพนักงานออฟฟิศส่วนมาก จะมีพฤติกรรมในการนั่งทำงานนานวันละประมาณ 6-8 ชั่วโมง
ออฟฟิศซินโดรมในมุมมองของแพทย์แผนจีน
สาเหตุของออฟฟิศซินโดรมหรือกลุ่มอาการปวดเรื้อรังตามหลักของศาสตร์การแพทย์แผนจีนนั้น จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาการ 痹症 (ปี้เจิ้ง) ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในร่างกาย สาเหตุจากปัจจัยก่อโรคภายนอกร่างกาย ได้แก่ ลม ความเย็น ความชื้น เลือดพร่อง ชี่พร่อง และเลือดคั่ง สาเหตุจากปัจจัยก่อโรคภายในร่างกาย เช่น อารมณ์แปรปรวนไม่สมดุล อวัยวะภายในเกิดการทำงานการเสียสมดุล การตรากตรำทำงานหนัก การพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น ได้มากระทบต่อเส้นลมปราณ จึงส่งผลทำให้เลือดและชี่ไหลเวียนไม่สะดวก ไหลเวียนได้ช้าลง เกิดภาวะชี่ติดขัดและเลือดคั่ง จนกระทั่งเกิดอาการปวด ดังวลีดังในทฤษฎีของแพทย์แผนจีนที่ได้มีการกล่าวไว้ว่า « 不通则痛, 通则不痛 » มีความหมายว่า “การติดขัดทำให้เกิดอาการปวด เมื่อไม่ติดขัดก็จะไม่มีอาการปวด”
อาการของออฟฟิศซินโดรมมีอะไรบ้าง ?
- มีอาการปวด ตึง หรือเมื่อยกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก หลัง โดยอาการปวดมักจะปวดเป็นบริเวณกว้างๆ ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ปวดแบบชัดเจนได้
- อาจมีอาการปวดร้าวไปถึงบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วยได้ เช่น มีอาการปวดร้าวไปบริเวณศีรษะ มึนศีรษะ หรือไมเกรน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
- หากเป็นบริเวณต้นคอ อาจจะมีอาการมึนงง หูอื้อ ตาลาย ตาพร่าร่วมด้วยได้
- อาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงบริเวณแขนและมือได้ หากมีการกดทับเส้นประสาทนานเกินไป
- บางรายอาจมีอาการปวดข้อมือ นิ้วล็อกได้ หากมีการใช้มือและข้อมือหนักๆ และอยู่ในท่าเดิมนานๆ
วิธีการรักษาอาการจากออฟฟิศซินโดรมทางศาสตร์การแพทย์แผนจีนทำได้อย่างไรบ้าง ?
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการนั่งทำงานให้เหมาะสม
- ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกาย
- การฝังเข็ม ปรับสมดุลร่างกาย คลายกล้ามเนื้อ ลดอาการปวด ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและลมปราณ
- การกัวซา เพื่อขับพิษและกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและลมปราณ
- การครอบแก้ว ช่วยขจัดพิษจากลม ความเย็น ความร้อน ความชื้น รวมถึงช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและเส้นลมปราณที่ติดขัดได้
- ยาจีน โดยจะสามารถช่วยขจัดพิษจากลม ความเย็น ความร้อน และความชื้น ที่เข้ามากระทบ อีกทั้งสามารถปรับสมดุลอวัยวะภายในได้
บทความโดย แพทย์จีนจุฑารัตน์ บุญสุธารมณ์ แพทย์แผนจีน โรงพยาบาลเอกชัย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ แผนกแพทย์แผนจีน รพ.เอกชัย
โทร.034-417999 หรือ 1715 ต่อ 201