การทดสอบการแพ้อาหารด้วยวิธีรับประทาน (Oral Food Challenge Test)
เป็นการยืนยันการวินิจฉัยโรคที่น่าเชื่อถือมากที่สุด และสามารถให้ความมั่นใจในการรับประทานอาหารแก่ผู้ป่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นการแพ้อาหารในลักษณะเฉียบพลัน (IgE) ที่เกิดขึ้นเร็ว ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงภายหลังรับประทาน หรือ ชนิดไม่เฉียบพลัน (non-IgE) ที่อาจปรากฎอาการภายหลังรับประทานนานหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน

ขั้นตอนการทดสอบ
แพทย์ผู้ทำการทดสอบจะทำการซักประวัติการแพ้อาหาร และ/หรือ อาจพิจารณาให้ทำการทดสอบอื่นๆเพิ่มเติมก่อนการรับประทาน เช่น การทดสอบสารก่อภูมิแพ้โดยการสะกิดผิวหนัง (skin prick test) หรือการเจาะเลือดแบบจำเพาะ เป็นต้น

ในการทดสอบการแพ้อาหารด้วยวิธีรับประทาน ผู้ป่วยจะได้รับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้ / เคยมีประวัติแพ้ ในปริมาณ 5-10 % ของปริมาณที่ควรได้รับ และค่อยๆเพิ่มปริมาณ ทุก 15 นาที โดยจะมีการสังเกตอาการและวัดสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด จนผู้ป่วยสามารถทานอาหารในปริมาณปกติได้ โดยใช้เวลาทดสอบประมาณ 3 ชั่วโมง ในกรณีที่อาการของผู้ป่วยเป็นการแพ้ที่เกิดขึ้นล่าช้า อาจต้องสังเกตอาการต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 7 วัน หากผู้ป่วยไม่มีอาการแพ้เกิดขึ้นจะถือว่าผู้ป่วยไม่ได้แพ้อาหารชนิดนั้นหรือหายแพ้อาหารชนิดนั้นแล้ว

การเตรียมตัวก่อนทำการทดสอบ
• ผู้ป่วยต้องสบายดี ไม่มีการเจ็บป่วยใดๆ ภายใน 1 สัปดาห์ก่อนทำการทดสอบ
• งดรับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้อย่างน้อย 7-14 วัน ก่อนทำการทดสอบ
• งดรับประทานยาแก้แพ้ อย่างน้อย 7 วันก่อนทำการทดสอบ

ผู้ที่เหมาะสมกับการทดสอบการแพ้อาหารด้วยวิธีรับประทาน
• ผู้ที่มีประวัติแพ้อาหาร และต้องการพิสูจน์ว่าหายแล้วหรือไม่ เนื่องจาก
การแพ้อาหารบางชนิดในผู้ป่วยเด็กอาจหายแพ้ได้เมื่ออายุมากขึ้น
• ผู้ที่เคยทานอาหารชนิดนั้นๆได้ แต่ต่อมาถูกวินิจฉัยว่าแพ้อาหารและต้อง
การพิสูจน์ว่าแพ้อาหารชนิดนั้นๆจริงหรือไม่
• ผู้ที่เคยตรวจจากผลเลือดว่าแพ้อาหารแต่ไม่มีอาการ

หมายเหตุ
ผู้ป่วยที่เข้ารับการทดสอบการแพ้อาหารด้วยวิธีรับประทาน อาจมีโอกาสเกิดอาการแพ้อาหารชนิดนั้นๆได้ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าผู้ป่วยแพ้อาหารจริงหรือยังไม่หายจากการแพ้อาหารชนิดนั้น ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อป้องกันและแก้ไขอาการแพ้ได้ทันท่วงที
ทั้งนี้การทดสอบจะเริ่มทำหลังจากได้รับความยินยอมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ป่วยหรือผู้ปกครองซึ่งได้ทราบถึงกระบวนการและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

บทความโดย : พญ.ณิชาพร วัฒนพรมงคล
กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
คลินิกภูมิแพ้เด็กโรงพยาบาลเอกชัย โทร.1715 ต่อ 9221, 9222