ผลกระทบทางสุขภาพต่อระบบทางเดินหายใจ จากฝุ่นมลพิษ PM2.5

 

ฝุ่นมลพิษที่มีขนาดน้อยกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) สามารถลงไปถึงทางเดินหายใจส่วนปลาย และยังสามารถถูกดูดซึมเข้ากระแสโลหิตได้ ส่งผลให้เกิดการอักเสบของหลอดลมขนาดเล็ก และเส้นเลือดทั่วร่างกาย ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคปอดเรื้อรัง และโรคหลอดเลือดหัวใจ

ผลกระทบต่อผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคปอด

เกิดภาวะหลอดลมตีบเฉียบพลัน หรือที่เรียกว่าหอบหืดกำเริบ ผู้ป่วยจะมีอาการไอ หอบ แน่นหน้าอก หายใจเสียงวี๊ด รายที่เป็นมาก และมาโรงพยาบาลไม่ทัน ทำให้มีโอกาสเสียชีวิต

ผลกระทบต่อผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจ

เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอก อาจมีอาการเหงื่อแตกใจสั่น หายใจหอบเหนื่อยร่วมด้วย รายที่เป็นมาก และมาโรงพยาบาลไม่ทัน มีโอกาสเสียชีวิต

ผลกระทบทางสุขภาพต่อคนที่ไม่มีโรคประจำตัว

ฝุ่นมลพิษ PM2.5 ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลมขนาดเล็ก เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ ดังนั้นในผู้ที่สูดฝุ่นมลพิษชนิดนี้สะสมเป็นเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคหลอดเลือดหัวใจในระยะยาว

คำแนะนำการดูแลสุขภาพในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน

  1. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงข้างต้น หรือกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะเด็ก ให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้งในช่วงที่ค่าฝุ่นขึ้นสูง หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง ให้สวมหน้ากากชนิด N95 เท่านั้น
  2. ปิดประตูและหน้าต่างในที่พักอาศัยให้มิดชิด ร่วมกับการใช้เครื่องฟอกอากาศชนิดตัวกรอง HEPAที่สามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้
  3. ดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน เพื่อให้ร่างกายขับเอาฝุ่นที่เข้ากระแสเลือด ออกทางปัสสาวะ
  4. หากมีอาการที่สงสัยจะเกิดจากการสูดดมฝุ่น PM2.5 มากเกินไป ให้ปรึกษาแพทย์ใกล้บ้านท่าน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: คลินิกโรคทางเดินหายใจและปอด ศูนย์อายุรกรรม

โทร.034-417-999 ต่อ 110, 111