ในขณะที่ตั้งครรภ์ คุณแม่อาจมีอาการหลายๆ อย่างเกิดขึ้นและทำให้สร้างความกังวลไม่น้อย

เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นบางอย่างสามารถส่งผลกระทบต่อคุณแม่ตั้งครรภ์หรือทารกในครรภ์ได้ หนึ่งในอาการเหล่านั้น คือ ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia)

ครรภ์เป็นพิษ คืออะไร ?

ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) คือ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์หรืออาจจะเป็นช่วงหลังคลอดใหม่ๆ ซึ่งจะสามารถส่งผลให้คุณแม่มีความดันโลหิตสูง มีโปรตีนในปัสสาวะสูง หรือมีอาการบวมที่มือ หน้า ขา และเท้า บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ มึนศีรษะ ตามัวและอาเจียนร่วมด้วยได้ ภาวะครรภ์เป็นพิษโดยส่วนมากมักเริ่มมีอาการหลังจากที่ตั้งครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ และหากไม่ได้รับการักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ที่ทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษ

  • การตั้งครรภ์ครั้งแรก เมื่ออายุน้อยกว่า 20 ปี หรืออายุมากกว่า 35 ปี
  • การตั้งครรภ์แฝด หรือตั้งครรภ์ลูกมากกว่า 2 คน
  • มีภาวะครรภ์เป็นพิษในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
  • ครอบครัว เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน
  • ผู้ที่มีภาวะเลือดแข็งตัวง่าย
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเบาหวาน เป็นต้น
  • การตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

ภาวะครรภ์เป็นพิษ มีลักษณะอาการเป็นอย่างไร ?

  • ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ วัดได้ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
  • ตรวจพบโปรตีนส่วนเกินในปัสสาวะ
  • เกล็ดเลือดลดลง
  • ค่าตับสูงขึ้น
  • มีอาการปวดศีรษะรุนแรง เนื่องจากความดันโลหิตสูงขึ้น
  • การมองเห็นผิดปกติ เช่น ตาพร่ามัว ไวต่อแสง สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว เป็นต้น
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปกติ โดยอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากการบวมน้ำ สัปดาห์ละ 1-2 กิโลกรัม
  • มีอาการบวมน้ำ โดยเฉพาะใบหน้าและมือ
  • จุกแน่นใต้ชายโครง โดยเฉพาะชายโครงด้านขวา
  • หายใจลำบาก หายใจถี่ เนื่องจากมีน้ำในปอด
  • ทารกดิ้นน้อยลง และท้องไม่ค่อยโตตามอายุครรภ์ เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงมดลูกลดน้อยลง

วิธีที่ช่วยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ ทำได้อย่างไร ?

  • เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ควรรีบมาฝากครรภ์ และควรเข้ารับการตรวจครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
  • แจ้งโรคประจำตัวให้แพทย์เจ้าของไข้ทราบ
  • หมั่นสังเกตและนับการดิ้นของทารก เพื่อสามารถพิจารณาถึงความผิดปกติได้
  • ดื่มน้ำสะอาดมากๆ ขั้นต่ำ 6 – 8 แก้วต่อวัน
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เค็ม มัน
  • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ 6 – 8 ชั่วโมงต่อวัน
  • งดสูบบุหรี่ และงดดื่มแอลกอฮอล์

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม :
ศูนย์สูติ – นรีเวช และผู้มีบุตรยาก โทร. (034) 417-999 ต่อ 158, 221, 222 สายด่วน 1715