“ภูมิแพ้” แม้ส่วนใหญ่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ก่อให้เกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เป็นอุปสรรค ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การได้ทราบต้นเหตุของการแพ้จะช่วยผู้ป่วยในการหลีกเลี่ยงสารดังกล่าวได้ถูกต้อง และช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยจนถึงการวางแผนการรักษา ซึ่งโดยทั่วไปสารก่อภูมิแพ้ แบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ เช่น ไรฝุ่นบ้าน แมลงสาบ รังแคสุนัขและแมว หญ้า วัชพืช สปอร์เชื้อรา ฯลฯ และ สารก่อภูมิแพ้ในอาหาร เช่น นมวัว ถั่วเหลือง ไข่แดง ไข่ขาว แป้งสาลี อาหารทะเล เป็นต้น

ในการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ มีวิธีที่นิยม 2 วิธี ได้แก่

  1. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy Skin Testing) แบ่งการทดสอบได้ 2 วิธี คือการสะกิดผิวหนัง (Skin Prick Test) และ การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Intradermal Testing) ซึ่งวิธีแรกคือวิธีสะกิดผิวหนัง ได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจากทำง่าย เร็ว ไม่เจ็บ และใช้อุปกรณ์น้อย เสี่ยงต่อการแพ้แบบรุนแรงน้อย
  2. การเจาะเลือดหาสารก่อภูมิต้านทานที่จำเพาะกับสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด (Serum Specific IgE Testing)

ประโยชน์ของการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้

  1. ทำให้ผู้ป่วยทราบว่าสารก่อภูมิแพ้ชนิดใดเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดการแพ้ เพื่อจะได้กำจัดหรือหลีกเลี่ยงได้ตรงชนิด และส่งผลต่อการควบคุมโรคได้ดียิ่งขึ้น
  2. กรณีต้องรักษาโดยการฉีดหรือสารก่อภูมิแพ้ (Immunotherapy) จะได้เลือกฉีดหรือกินได้ตรงชนิด ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลดี

ขั้นตอนการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังโดยวิธีสะกิด (Skin Prick Test)

  1. ทำความสะอาดผิวหนังที่จะทดสอบ (ท้องแขนหรือหลัง)
  2. ขีดเสนแสดงตำแหน่งที่จะทำการทดสอบ
  3. ใข้อุปกรณ์ที่จุ่มในน้ำยาทดสอบ สะกิดเบาๆ ที่ชั้นหนังกำพร้า
  4. อ่านผลได้ภายใน 15 นาที หลังทำการทดสอบ
  5. สังเกตอาการหลังการทดสอบ 30 นาที เพื่อพิจารณาอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการแพ้สาร

ข้อดีของการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังโดยวิธีสะกิด (Skin Prick Test)

  1. ทำได้ง่ายและไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด
  2. ผลการทดสอบมีความน่าเชื่อถือ และทราบผลการทดสอบได้เร็ว
  3. ค่าใช้จ่ายไม่สูง

การเตรียมตัว :

  1. งดยาแก้แพ้ (Antihistamine) และยาบางชนิดอาจมีส่วนผสมของยาแก้แพ้ เช่น ยาแก้หวัด ยาลดน้ำมูก ยาแก้คัน ยาแก้เมารถ ก่อนรับการทดสอบอย่างน้อย 7 วัน
  2. ผู้ที่มีโรคทางจิตเวช หรือผู้ที่กินยากดภูมิสเตียรอยด์ ต้องแจ้งชื่อยาที่รับประทานอยู่ ให้แพทย์ที่จะทำการทดสอบทราบด้วยเพราะยาบางชนิดต้องงดก่อนทำการทดสอบ
  3. ควรงดยาสเตียรอยด์ชนิดทาผิวหนัง เนื่องจาก อาจมีผลกดปฏิกิริยาการทดสอบ
  4. ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนการทดสอบ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์กุมารเวช โทร.(034) 417-999 ต่อ 9221, 9222 สายด่วน 1715