การตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep test) คืออะไร
การตรวจสุขภาพการนอนหลับ เป็นการตรวจสำคัญที่ใช้เพื่อวิเคราะห์การทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายระหว่างการนอนหลับ เช่น ระบบการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานของคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และกล้ามเนื้อ รวมถึงศึกษาพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นขณะหลับด้วย เพื่อวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น รวมถึงการกระตุกของกล้ามเนื้อต่างๆ ระหว่างการนอนหลับ
ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)
- ผู้ที่นอนกรนเสียงดังมากผิดปกติ
- ผู้ที่มีอาการง่วงในช่วงกลางวันมากผิดปกติ หรือรู้สึกนอนไม่อิ่ม รู้สึกไม่สดชื่น ร่วมกับมีอาการรู้สึกอ่อนแรง เหนื่อยล้า แม้ว่าจะนอนหลับในเวลากลางคืนอย่างเพียงพอแล้ว
- ผู้ที่มีอาการนอนหลับไม่สนิท หรือหลับไม่ลึก
- ผู้ที่รู้สึกหายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม หรือสงสัยว่าอาจหยุดหายใจขณะหลับ
- ผู้ที่มักมีอาการสะดุ้งตื่นกลางดึกหรือระหว่างการนอน
- ผู้ที่มีพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ เช่น นอนกัดฟัน นอนละเมอ เดินละเมอ แขนหรือขากระตุกระหว่างการนอนหลับ ปัสสาวะรดที่นอน นอนฝันร้าย ผวาตื่นกลางดึกเป็นประจำ
- ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับเป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงในการขาดออกซิเจนขณะหลับ เช่น โรคลมชัก โรคลมบ้าหมู โรคหัวใจ โรคไตวาย โรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และภาวะที่ไม่สามารถขยับร่างกายได้ขณะกำลังตื่น เป็นต้น
- ผู้ที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีภาวะชักขณะหลับ
- ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องใช้สมาธิในการทำงานสูง และผู้ที่มีอาชีพที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น นักบิน กัปตันเดินเรือ พนักงานขับรถไฟ พนักงานขับรถไฟฟ้า คนขับรถบรรทุก เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ
ตรวจสุขภาพการนอนหลับมีกี่ชนิด และ ตรวจชนิดไหนดี
การตรวจการนอนหลับ | ประเภทที่ 1 (Type 1) | ประเภทที่ 2 (Type2) | ประเภทที่ 3 (Type3) | ประเภทที่ 4 (Type4) |
ตรวจวัดระดับออกซิเจน | มี | มี | มี | มี |
วัดความดังของเสียงกรน | มี | มี | มี | ไม่มี |
ตรวจวัดการขยับของทรวงอกและหน้าท้อง | มี | มี | มี | มี |
ตรวจวัดระดับลมหายใจ | มี | มี | มี | มี |
ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง(EEG) | มี | มี | ไม่มี | ไม่มี |
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(EKG) | มี | มี | มี | ไม่มี |
สถานที่ตรวจ | ในโรงพยาบาล | ที่บ้านพัก/โรงพยาบาล | ที่บ้านพัก/โรงพยาบาล | ที่บ้านพัก/โรงพยาบาล |
เจ้าหน้าเฝ้าขณะตรวจ | มี | ไม่มี | ไม่มี | ไม่มี |
เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการนอนหลับ | ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีความผิดปกติหลายอย่าง หรือตรวจครั้งแรก | ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีความผิดปกติหลายอย่าง หรือตรวจครั้งแรก | ผู้มีปัญหานอนกรน | ผู้มีปัญหานอนกรน |
ข้อดี | มีความละเอียด และแม่นยำสูง | มีความละเอียด แม่นยำ | ได้คิวเร็ว ติดตั้งง่าย มีความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง ราคาประหยัด | ได้คิวเร็ว ติดตั้งง่าย มีความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องเดินทาง ราคาประหยัด |
ข้อจำกัด | ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อาจรอคิวนาน | มีสายต่อจำนวนมาก อาจมีปัญหาการหลุดได้แนะนำตรวจที่โรงพยาบาลมากกว่า | ความแม่นยำน้อยกว่า ไม่เหมาะสำหรับผู้มีโรคประจำตัว | ความแม่นยำน้อยกว่า ไม่เหมาะสำหรับผู้มีโรคประจำตัว |
ทั้งนี้การเลือกวิธีการตรวจสุขภาพการนอนหลับแบบใดนั้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อเลือกวิธีการตรวจที่เหมาะสมที่สุด อันจะนำไปสู่การได้ข้อมูลที่เหมาะสม เพียงพอต่อการวินิจฉัยโรค และนำไปสู่การรักษาต่อไปได้
การเตรียมตัวตรวจสุขภาพการนอนหลับ
- หลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน โดยเฉพาะในวันที่จะมาทำการตรวจ เพราะจะทำให้คุณภาพการนอนในตอนกลางคืนไม่ดี
- หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ในวันที่จะมาทำการตรวจ เพราะจะทำให้คุณภาพการนอนหลับผิดปกติ
- ควรอาบน้ำ สระผม ก่อนมาโรงพยาบาล ไม่ใส่ครีมนวดผม เจล น้ำมัน หรือสเปรย์ที่ผม เพราะการติดอุปกรณ์ที่หนังศีรษะจะไม่ดีเท่าที่ควร
- ห้ามทาแป้งหรือครีม บริเวณใบหน้า คอ และขา เพื่อช่วยให้อุปกรณ์ติดแน่อยู่ตลอดทั้งคืน
- ห้ามรับประทานยาระบายก่อนมาทำการตรวจ เพราะยาระบายจะทำให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง
- ยาที่รับประทานเป็นประจำ เช่น ยาควบคุมความดันโลหิต ยาควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ยารักษาโรค ให้รับประทานได้ตามปกติ
- งดรับประทานยานอนหลับในวันที่ตรวจ เพราะต้องดูสุขภาพการนอนจริงตามธรรมชาติ
- กรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีเมื่อมีอาการป่วย เช่น เป็นหวัด หรือมีไข้
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
ศูนย์ ตา หู คอ จมูก โทร. 034-417-999 ต่อ 277, 278
คลินิกโรคทางเดินหายใจ คลินิกโรคระบบประสาท และสมอง ศูนย์อายุรกรรม
โทร.034-417-999 ต่อ 110, 111 สายด่วน: 1715