ภาวะตาเข (Strabismus)
ภาวะตาเขคือ สภาวะที่ลูกตาทั้งสองข้างทำงานไม่สอดประสานกัน ส่งผลให้ตาทั้งสองไม่ได้จ้องมองวัตถุเดียวกันในเวลาที่พร้อมกัน โดยผู้ป่วยจะใช้ตาข้างที่ปกติเพียงข้างเดียวในการจ้องมองวัตถุ และตาข้างที่เขจะไม่ถูกใช้งานหรือจ้องมองวัตถุอื่นแทน
ตาเขสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบดังนี้
- ตาเขเข้าใน คือภาวะที่ตาดำของผู้ป่วยเขเข้าหาจมูกของตนเอง (รูปที่ 2)
- ตาเขออกนอก คือภาวะที่ตาดำของผู้ป่วยเขออกจากจมูกของตนเอง (รูปที่ 3)
- ตาเขขึ้นบนหรือลงล่าง คือภาวะที่ตาดำของผู้ป่วยเขขึ้นบนหรือลงล่าง (รูปที่ 4 และ 5)
ภาวะตาเข เป็นภาวะที่สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีสาเหตุได้หลากหลายเช่น จากภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง โรคทางระบบประสาทและสมอง โรคตาไทรอยด์ โรคความผิดปกติของตัวกล้ามเนื้อตาที่ควบคุมการกลอกตา ภาวะค่าสายตาผิดปกติ หรืออาจเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุ
ผลเสียของภาวะตาเขในเด็ก
- เกิดภาวะตาขี้เกียจจากภาวะตาเข
- สูญเสียการมองเห็นภาพสามมิติ
- มีอาการล้าตา
- อาจมีอาการคอเอียงหรือหันศีรษะ และส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพ
- อาจมีปัญหาในการเข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อนและอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสังคมในช่วงวัยเด็กได้
ผลเสียของภาวะตาเขในผู้ใหญ่
- มองเห็นภาพซ้อนเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ
- มีอาการล้าตา
- มีอาการเอียงศีรษะ ซึ่งส่งผลต่อบุคลิกภาพของผู้ป่วย
การรักษาภาวะตาเขสามารถรักษาได้หลากหลายวิธี ได้แก่
- การสวมแว่น
- การรับประทานยา
- การฝึกฝนกล้ามเนื้อตา
- การฉีดโบท็อกซ์
- การผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อตา
โดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับชนิดของตาเขแต่ละรูปแบบให้ผู้ป่วย ระยะเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัดรักษาตาเขในเด็ก ขึ้นกับช่วงอายุ ชนิดและรูปแบบของตาเข โดยทั่วไป ตาเขที่เกิดขึ้นในเด็กที่มีอายุน้อย จะส่งผลเสียกับพัฒนาการการมองเห็นของเด็กมาก โดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้วางแผนการรักษาและเลือกช่วงเวลาในการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย และหลังจากผ่าตัดกล้ามเนื้อตาแล้ว มักต้องอาศัยการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาผลกระทบของตาเขที่มีต่อพัฒนาการมองเห็นของเด็กต่อไป
ผลดีจากการรักษาตาเข
- ผู้ป่วยสามารถใช้ตาทั้งสองข้างทำงานสอดประสานกัน ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นภาพสามมิติ และกำจัดอาการภาพซ้อน
- ลดอาการเอียงศีรษะหรือการหันหน้าของผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากตาเข
- แก้ไขภาวะตาขี้เกียจที่มีสาเหตุมาจากภาวะตาเข
- ลดอาการล้าตา
- ทำให้ผู้ป่วยมีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น
- ส่งเสริมให้เด็กสามารถมีพัฒนาการทางสังคมที่สมวัย
- จำกัดอุปสรรคในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ตา หู คอ จมูก
นายแพทย์ปัญชรัช ปรีชาหาญ จักษุแพทย์ ความชำนาญพิเศษ : จักษุวิทยาเด็ก และตาเข
โรงพยาบาลเอกชัย โทร. 1715 หรือ 034-417-999 ต่อ 277