การบำบัดด้วยความร้อน
หลายๆคนที่มีอาการบาดเจ็บจากโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เช่น ปวดต้นคอ ปวดบ่า ปวดหลัง และปวดเข่า เป็นต้น เมื่อมาพบแพทย์แล้ว แพทย์มักมีการแนะนำให้ทำกายภาพร่วมด้วย และหนึ่งในวิธีการรักษาโดยนักกายภาพบำบัดที่ช่วยบรรเทาอาการปวดเหล่านี้ คงหนีไม่พ้นวิธีการบำบัดด้วยการใช้ความร้อนหรือความเย็น
การบำบัดด้วยความร้อนหรือความเย็นมีความแตกต่างกันอย่างไร ?
การบำบัดด้วยความร้อน
สามารถช่วยให้เพิ่มการไหลเวียนเลือดในบริเวณที่ทำการรักษา ช่วยคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งการเพิ่มอุณหภูมิที่บริเวณที่มีอาการปวด แม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถบรรเทาความรู้สึกไม่สบายและเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อได้ แต่การบำบัดด้วยความร้อนนั้น จะไม่เหมาะกับบริเวณที่มีการอักเสบเฉียบพลันใหม่ๆ หรือมีเลือดออก แต่จะเหมาะสมกับอาการอักเสบเรื้อรังมากกว่า
กลุ่มอาการที่เหมาะกับการบำบัดด้วยความร้อน
- ปวดแบบเรื้อรัง เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ปวดกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นเรื้อรัง ข้ออักเสบ ยกเว้น อาการปวดที่เกิดจากโรคเกาต์
- ปวดตึงกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือ ข้อติด
- ปวดจากกล้ามเนื้อตึง จมยึด
การบำบัดด้วยความร้อนมีรูปแบบใดบ้าง ?
แบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ
- การบำบัดด้วยความร้อนตื้น (Superficial Heat) เครื่องมือกลุ่มนี้จะทำให้เกิดความร้อนสูงสุดบริเวณผิวหนังและชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ได้แก่
- ถุง หรือ แผ่นประคบความร้อน
- ไขพาราฟิน
- Fluidotherapy
- โคมไฟให้ความร้อน
- การบำบัดด้วยความร้อนลึก (Deep Heat / Diathermy) เครื่องมือกลุ่มนี้จะทำให้เกิดความร้อนสูงสุดที่ชั้นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและกระดูก ได้แก่
- Ultrasound diathermy
- Shortwave diathermy
- Microwave diathermy
การบำบัดด้วยความเย็น
จะช่วยให้เนื้อเยื่อมีความยืดหยุ่นลดลง หลอดเลือดที่มาบริเวณที่ทำการรักษาจะเกิดการหดตัว ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดลดลง จึงทำให้สามารถลดอาการอักเสบและลดอาการบวมได้ แต่หากใช้อุณหภูมิที่เย็นเกินโดยต่ำกว่า 1 องศาเซลเซียส เกินกว่า 15 นาที จะกลับทำให้หลอดเลือดขยายตัวและเกิด tissue death ได้ ซึ่งควรระวัง
- กลุ่มอาการที่เหมาะกับการบำบัดด้วยความเย็น
- อาการบาดเจ็บหรือปวดเฉียบพลัน เช่น หกล้มข้อเท้าพลิกปวดบวม
- บริเวณนั้นมีอาการปวด บวม แดง ร้อน
- หลังจากการผ่าตัดกระดูกและข้อ
- การบำบัดด้วยความเย็นมีรูปแบบใดบ้าง ?
- Cold packs เป็นแบบที่ง่ายและใช้บ่อยที่สุด
- Ice massage
- Cold water immersion
- Cryotherapy compression unit จะใช้รักษาเฉพาะตำแหน่ง หลังจากการบาดเจ็บ
- Vapocoolant Spray
ทั้งนี้ ควรเข้ารับการปรึกษาและคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนเข้ารับการรักษา
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเอกชัย โทร. 1715 หรือ 034-417-999 ต่อ 132 หรือ 133
ศูนย์กายภาพบำบัด โรงพยาบาลเอกชัย โทร. 1715 หรือ 034-417-999 ต่อ 424 หรือ 425