ต้อกระจก เป็นภาวะที่แก้วตาหรือเลนส์ตา (Lens) ภายในลูกตามีลักษณะขุ่นขาวขึ้น จากปกติที่มีลักษณะโปร่งใสเหมือนกระจก เมื่อแก้วตาขุ่นขาวก็จะมีลักษณะทึบแสง ไม่ยอมให้แสงผ่านเข้าสู่ลูกตาไปรวมตัวที่จอตา (เรตินา) ทำให้เกิดอาการตาฝ้าฟางหรือมืดมัว

สาเหตุ

ส่วนใหญ่ (ประมาณ 80 %) เกิดจากภาวะเสื่อมตามวัย คนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะเป็นต้อกระจกแทบทุกคน แต่อาจเป็นมากน้อยต่างกันไปเรียกว่า ต้อกระจกในคนสูงอายุ (Senile cataract) หรืออาจเกิดจาก โรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน ดวงตาได้รับการกระทบกระแทก ถูกแสงแดดจัดเป็นประจำ หรือการใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์

การรักษา

การรักษา ได้แก่การรักษาด้วยการผ่าตัดและการรักษาด้วยยา เป็นต้น โดยการรักษาด้วยการผ่าตัดมี 2 ชนิดได้แก่

1. Extra capsular cataract  exfraction with intraocular lens implantation

เป็นการผ่าตัดเข้าไปในลูกตา เปิดถุงหุ้มเลนส์ เอาเลนส์ที่ขุ่นออกทั้งอันโดยเหลือถุงหุ้มเลนส์เอาไว้ และใส่เลนส์เทียมเข้าไปทดแทน เข้าไปใน ถุงหุ้มเลนส์นั้น แล้วจึงเย็บปิดแผล ปัจจุบันนิยมทำวิธีนี้ในรายที่ต้อกระจกมีลักษณะขุ่นแข็ง

2. Phacoemulsification and aspiration with intraocalar lens implantation

วิธีนี้กำลังนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน เป็นการผ่าตัดด้วยแผลขนาดเล็กกว่าวิธีแรก แผลที่ผ่าตัดเข้าในตาอาจมีขนาดประมาณ 3 มม. และจะเจาะถุงหุ้มเลนส์ด้านหน้า แล้วใช้เครื่องอัลตร้าศาวด์เป็นตัวสลายเนื้อ เลนส์ให้เป็นชิ้นเล็กๆแล้วค่อยดูดออกมา

(วิธีแรก เป็นการผ่าตัดเอาเลนส์ออกมาเป็นชิ้นใหญ่ ชิ้นเดียว ขนาดของแผลจึงกว้างกว่าวิธีนี้มาก) จากนั้นจึงใส่เลนส์เทียมเข้าไปทดแทนและอาจจะเย็บปิดแผลหรือไม่เย็บก็ได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของแผล การผ่าตัดทั้ง 2 วิธี หลังผ่าตัดควรนอนพักในโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 คืน โดยเฉพาะรายที่มี โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น กรณีไม่พักในโรงพยาบาลหลังผ่าตัด แพทย์จะนัดมาเปิดตาในวันรุ่งขึ้น

การรักษาโดยทางเลือกอื่น

1. รักษาด้วยยา มักใช้ในกรณีที่เริ่มเป็นน้อยๆ โดยจะต้องหยอดยาวันละ 3 – 4 ครั้ง เป็นเวลาหลายๆ เดือน ผู้ใช้ยาบางรายเข้าใจผิดว่า หยอดแค่ 2-3 อาทิตย์แล้ว จะเห็นชัดดี เหมือนกับการกินยาแก้หวัด หรือโรคปวดหัวตัวร้อนทั่วไป ซึ่งจริงๆแล้ว ยานี้เห็นผลช้ามากและในบางคนถึงหยอดไปก็ไม่ได้ช่วยให้เห็นชัดขึ้น

2. วิธีอื่นๆ การมองไม่ชัดของคนเราแต่ละคน อาจมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น มีต้อกระจกร่วมกับสายตาสั้นหรือมีโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ ดังนั้น การใช้แว่นสายตา หรือแก้ไขภาวะจอตาเสื่อมอาจจะช่วยในการมองเห็นให้ดีขึ้น ถึงแม้จะไม่ได้รักษาต้อกระจกโดยตรงก็ตาม

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการผ่าตัดต้อกระจก

1. อักเสบติดเชื้อหลังผ่าตัด

2. เลือดออกหลังผ่าตัด พบน้อยมาก ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวของผู้ป่วย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเลือด การรับประทานยาละลายลิ่มเลือด

3. จอประสาทตาหลุดลอก พบได้ในคนที่สายตาสั้นมากหรือเบาหวานขึ้นตา

คำแนะนำเรื่อง ผ่าตัดต้อกระจก

การปฏิบัติตัวก่อนผ่าตัด

1. อาบน้ำ สระผมให้สะอาดก่อนวันผ่าตัด

2. อาหารเช้าควรรับประทานอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม

3. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง

4. ไม่ควรแต่งหน้าหรือทาขอบตาในวันผ่าตัด

5. ในวันผ่าตัดควรมีญาติมาด้วย เพื่อช่วยเหลือขณะกลับบ้าน เพราะผู้ป่วยจะถูกปิดตา 1 ข้าง

กิจวัตรประจำวันหลังทำการผ่าตัด 2 – 4 สัปดาห์

1. หลังผ่าตัดในวันแรก ลุกเข้าห้องน้ำ รับประทานอาหารได้  (ควรรับประทานอาหารอ่อน งดอาหารที่เหนียวมากๆ และบุหรี่ เหล้า)

2. ไม่ก้มหน้าหรือนอนคว่ำหน้า ไม่ยกของหนัก ควรงดเล่นกีฬาที่ออกแรงมากๆ

3. หลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้ติดเชื้อ เช่น ทำสวน รดน้ำต้นไม้ ทำความสะอาดบ้าน เล่นกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

4. ไม่ล้างหน้า 2-4 สัปดาห์ โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าแทน สามารถสระผมโดยนอนหงายและใช้ผ้าสะอาดปิดบริเวณดวงตา

5. อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ได้ และควรหยุดพักเมื่อแสบตา

6. หยอดตาตามเวลา ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนหยอดยาทุกครั้ง

7. ในตอนกลางวันสามารถสวมแว่นกันแดด หรือแว่นตาเดิมที่ใช้อยู่ได้ แต่ในตอนกลางคืนก่อนเข้านอน (รวมทั้งนอนกลางวัน) ต้องครอบตาก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันการขยี้ตาขณะนอนหลับ

อาการที่ควรกลับมาพบแพทย์ ก่อนวันนัด

1. ปวดตามากขึ้น

2. ตาแดงมากขึ้น

3. มีขี้ตามากผิดปกติ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์จักษุครบวงจร ชั้น 2 โรงพยาบาลเอกชัย โทร. 1715 หรือ 034-417-999 ต่อ 277, 278