การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า (Total Knee)
โรคข้อเข่าเสื่อม
เกิดจากการที่กระดูกอ่อนซึ่งทำหน้าที่ปกป้องและเป็นตัวดูดซับแรงกระแทกในข้อเข่า มีการสึกหรอและเสื่อมสภาพลง หากกระดูกอ่อนนี้เสียหายเป็นพื้นที่กว้าง กระดูกในข้อเข่าจะเสียดสีกันเอง ทำให้เกิดการอักเสบและมีอาการปวด
โครงสร้างของข้อเข่า ประกอบด้วยปลายกระดูก 2-3 ชิ้นยืดติดกันด้วยเอ็นยืดระหว่างข้อ บางข้ออาจมีเอ็นยึดภายในข้อส่วนปลายกระดูกจะเป็นส่วนของกระดูกอ่อนที่มีความหนา ความแข็งแรง เป็นมันผิวเรียบ ภายในข้อมีของเหลวเล็กน้อย และยังมีเนื้อเยื่อพิเศษบุภายใน เพื่อเสริมความมั่นคงโดยเฉพาะข้อสะโพก ข้อเข่า ที่ช่วยในการรับน้ำหนัก
หน้าที่ของข้อเข่า
- เคลื่อนไหวจากการดึงของกล้ามเนื้อ
- รับน้ำหนัก
- ข้อเสื่อมเป็นภาวะหรือโรคเรื้อรังที่เกิดจากเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของข้อต่อจากเดิมที่เป็นปกติ
สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม
- พันธุกรรมและความผิดปกติแต่กำเนิดบางชนิด เช่น ขาหรือเข่าผิดรูป
- อายุและเพศ โดยเมื่ออายุมากขึ้น ความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองของกระดูกอ่อนก็ลดลง นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปจะมีแนวโน้มของการเกิดข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าผู้ชายที่อายุเท่ากัน
- น้ำหนักตัวมาก (BMI มากกว่า 23 กก./ม.2)
- ประวัติการบาดเจ็บที่ข้อเข่า ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมได้สูง โดยอาจเป็นผลจาก
– การบาดเจ็บ โดยถึงแม้ร่างกายจะมีการซ่อมแซมตัวเองหลังการบาดเจ็บ
โครงสร้างข้อเข่าก็อาจไม่แข็งแรงเหมือนเดิม
– ได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง - การใช้ข้อเข่าหักโหมซ้ำๆ หรือท่าทางบางอย่างที่ต้องงอเข่ามากเกินไป เช่น การคุกเข่า หรือนั่งยองๆ ซึ่งทำให้เข่าต้องรับแรงกดสูงกว่าปกติเป็นเวลานานหรือบ่อยครั้ง
- โรคไขข้ออักเสบ เช่น รูมาตอยด์ เกาต์ ส่งผลให้กระดูกอ่อนถูกทำลายจนกระทั่งหมดไป ทำให้เกิดอาการปวดและข้อติดแข็งตามมา
อาการของโรคข้อเสื่อม
- ระยะเริ่มแรก ที่สำคัญคืออาการปวดบวมแดงร้อนของข้อ อาการปวด อักเสบดังกล่าว เป็นสัญญาณเพื่อเตือนให้ลดการใช้งานลง ให้ข้อได้พักอาการอักเสบจะได้ทุเลาลง ถ้ายังคงใช้งานต่อข้ออาจมีของเหลวเพิ่มขึ้น เมื่อตรวจจะพบข้อบวมมากขึ้น
- ระยะปานกลาง เมื่อกระดูกอ่อนเริ่มมีการสึกกร่อน ข้อจะมีอาการอักเสบภายหลังการใช้งาน กล้ามเนื้อเริ่มปวดเมื่อย อ่อนแรง ข้อเริ่มโค้งงอ ที่เห็นชัดเจน คือ ข้อเข่าที่เริ่มโค้งงอมากขึ้นพิสัยการเคลื่อนไหวเริ่มติดขัดเหยียดงอไม่สุดเหมือนปกติ
- ระยะรุนแรง เมื่อกระดูกอ่อนสึกกร่อนมากขึ้น ข้อจะเริ่มหลวมไม่มั่นคง ข้อหนาตัวขึ้นจากกระดูกงอกหนา ข้อโก่งงอ ผิดรูปชัดเจน เวลาเดินต้องกางขากว้างมากขึ้น เพิ่มเสริมความมั่นคงกล้ามเนื้อรอบข้อที่ลีบเล็กลง ขณะลุกขึ้นจากท่านั่งจะมีอาการปวดที่รุนแรง
การรักษาโรคข้อเสื่อมเบื้องต้น
- ประคบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งเมื่อข้อเกิดการอักเสบ
- การลดน้ำหนักตัวเพื่อลดน้ำหนักที่มากระทำกับข้อเข่า ลดการใช้งานของข้อเข่า เครื่องพยุงข้อหรือใช้ไม้เท้าช่วยเดินขณะเกิดการอักเสบ
- บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่อาจทำให้กระดูกหักผ่านข้อ เอ็นยึดข้อฉีกขาด ข้อแพลง เป็นต้น
- การรักษาโดยการใช้ยา
- การใช้อุปกรณ์พยุงเข่าและใช้ไม้เท้าช่วยเดิน อุปกรณ์พยุงข้อเข่า แบบล็อกเข่า พยุงร่วมกับลูกสะบ้า
- การรักษาโดยการผ่าตัด
ท่าบริหารสำหรับออกกำลังกาย
ควรใช้พวกแรงต้านในการออกกำลังกายเพื่อทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น เช่น ยางยืดหรือ ถุงทราย
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
การรักษาที่ไม่ใช่การผ่าตัด
ช่วยบรรเทาอาการปวดและช่วยให้เข่าเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ได้แก่
- ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ได้แก่ รับประทานอาหารที่เหมาะสมเพื่อควบคุมน้ำหนักตัว ออกกำลังกายชนิดส่งแรงกระแทกข้อเข่าน้อยเป็นประจำ เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดิน เพื่อส่งเสริมให้ข้อเข่าแข็งแรงขึ้น
- ลดน้ำหนักหากมีน้ำหนักตัวมากเกินไป เพื่อลดแรงกดบนข้อเข่า
- รับประทานยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
- กายภาพบำบัด
- ใช้แผ่นรองด้านในรองเท้าและสนับเข่า เพื่อช่วยพยุงและลดแรงกระทบต่อเข่า
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ (Total Knee Arthroplasty)
ความหมาย
การผ่าตัดที่ใช้ในการรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรงโดยการนำเอาส่วนผิวข้อเข่าที่เสื่อมแล้วออกไป แล้วทดแทนด้วย ผิวข้อเข่าเทียมทั้งหมด ทั้งส่วนของกระดูก Femur, Tibia และ Patella
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด
เนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นการผ่าตัดเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยสามารถทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการปวดทรมาน สามารถเดินขึ้นและ ลงบันไดได้ดีขึ้น ระยะทางที่เดินได้ไกลมากขึ้น รวมถึงรูปร่างของข้อเข่าดูสวยงามขึ้น แต่เนื่องจากข้อเข่าเทียม มีอายุใช้งานโดยเฉลี่ยประมาณสิบกว่าปี แล้วจะหลุดหลวม ซึ่งจำเป็นต้องทำผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าใหม่อีกครั้ง จึงมีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม ดังนี้
- ผู้ป่วยสูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่มีโรคข้อดังกล่าวในระยะปานกลางและท้ายซึ่งมีอาการปวด ขัดมาก รักษาโดยใช้วิธีทานยา กายบริหาร ใส่เครื่องช่วยพยุง และจำกัดกิจกรรม แล้วไม่ได้ผล
- อาการข้อเข่าโก่งผิดรูป หรือเหยียดงอได้น้อยกว่าปกติ ที่ตรวจพบว่าเกิดร่วมกับข้อเข่าเสื่อมและมีอาการปวด ขัด
- ผู้ป่วยอายุน้อยตั้งแต่ 60 ปีลงมาที่มีโรคข้อเสื่อมมากจากเคยมีกระดูกหักหรือเหตุต่างๆของข้อมาก่อน ที่มีอาการปวด ขัด เป็นมากรักษาวิธีอื่นๆแล้วไม่ได้ผล และไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม โรคข้ออักเสบต่างๆเช่น รูมาตอยด์ เก๊าท์ เอสแอลอี เป็นต้น ที่มีอาการปวด ขัด เป็นมาก รักษาวิธีอื่นๆแล้วไม่ได้ผล
ข้อห้ามการทำผ่าตัดข้อเข่าเทียม
1. ข้อเข่าอักเสบติดเชื้อ
2. ข้อเข่าเสื่อมแบบมีความผิดปกติของการรับรู้อาการปวด
ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ชนิดหนึ่ง อาจทำให้เกิดข้อแทรกซ้อนจากการผ่าตัด หรือผลกระทบจาก การผ่าตัด ซึ่งไม่ต่างจากการผ่าตัดใหญ่ทั่วๆไป แต่เนื่องจากการผ่าตัดชนิดนี้เป็นการผ่าตัดที่นัดหมายเวลาได้ จึงทำให้ในปัจจุบันนี้ มีการควบคุมตัวแปรต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดข้อแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเป็นอย่างดีก่อนการผ่าตัด ทำให้ข้อแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เปลี่ยนข้อเข่าเทียมในปัจจุบันพบได้น้อยมาก ข้อแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้
- การติดเชื้อของแผลผ่าตัด
- ความไม่มั่นคงของข้อ ข้อเทียมหลุดหลวม
- กระดูกหักบริเวณรอบๆข้อเทียม
- ข้อเทียมชำรุด หรือ หัก
- แนวขาผิดปกติหลังการผ่าตัด
- เส้นประสาททำงานผิดปกติ
- เส้นเลือดฉีกขาด
- ลิ่มเลือดอุดตันที่ขา
- ขายาวไม่เท่ากัน
- งอข้อเข่าไม่ได้เท่าที่ควร
ผู้ป่วยที่มีโอกาสเกิดข้อแทรกซ้อนได้สูงกว่าคนทั่วไป
- ผู้ป่วยที่มีโรคทางอายุรกรรมที่ควบคุมไม่ดี เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมากเกิน 102 กิโลกรัม
- ผู้ป่วยที่มีกระดูกบางมาก หรือกระดูกมีขนาดเล็กมาก
วิธีการผ่าตัด
แพทย์จะเปิดแผลผ่าตัดบริเวณหัวเข่ายาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร เมื่อเปิดเข้าข้อแล้ว แพทย์จะผ่าตัดเอาผิวกระดูก ส่วน ต้นขา ออกหนาไม่เกิน 9-10 มิลลิเมตร และผิวกระดูกส่วนหน้าแข้งออกหนาไม่เกิน 10 มิลลิเมตร และผิวกระดูกสะบ้าออก ประมาณ ไม่เกิน 8 มิลลิเมตร กระดูกที่เอาออกมาจากทั้ง 3 ส่วนนั้น เป็นส่วนที่เป็นผิวของข้อเข่าที่เสื่อมสภาพ ถ้าเปรียบกับพื้นบ้าน ก็คง เหมือนกับการที่เราเอากระเบื้องปูพื้นที่สึกหรือชำรุดออก แล้วเตรียมพื้นบ้านใหม่ จากนั้นก็ปูกระเบื้องชุดใหม่เข้าไปแทน
ไม่เพียงแต่เอากระดูกที่เสื่อมออก การผ่าตัดยังมีความละเอียดกว่านั้นคือ แพทย์จะต้องปรับความตึงหรือหย่อนของเนื้อเยื่อ รอบข้อเข่า เพื่อให้ขาดูรูปร่าง ปกติ ไม่โก่งผิดรูป และยังต้องตั้งตำแหน่งการวางผิวข้อเทียมให้ถูกต้อง ซึ่งขั้นตอนนี้เปรียบเสมือน การตั้งศูนย์ล้อของรถยนต์ ตำแหน่งที่ถูกต้องจะทำให้ผู้ป่วย เดินได้ดี และข้อเข่าเทียมจะมีความทนทาน ซึ่งขั้นตอนนี้ ต้องอาศัย แพทย์ที่มีความชำนาญ หรือมีประสบการณ์สูง หรือควรมีอัตราการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าขั้นต่ำ ในแต่ละปีมากกว่า 30 รายขึ้นไป ซึ่งแพทย์ที่ชำนาญจะสามารถหาจุดอ้างอิงต่าง ๆ บนกระดูกข้อเข่าได้อย่างง่าย และแม่นยำ จากนั้นก็ประกอบเครื่องมือ ที่ใช้ในการ ตัดกระดูก ซึ่งมีการกำหนดค่ามุมในท่าเหยียด งอข้อเข่า และขนาดของข้อเทียมที่เหมาะสม นอกจากนั้นแล้ว แพทย์ยังต้องตรวจสอบ ดูการ เคลื่อนไหวของข้อให้ได้ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยคนนั้นๆด้วย
โดยทั่วไปผิวข้อเทียมที่ใส่เข้าไปนั้นจะมีความหนา และมีขนาดใกล้ เคียงกับผิวกระดูกส่วนที่ถูกตัด ออกไป และการที่แพทย์ ใช้สารยึดกระดูก ในการยึดผิวข้อเทียมกับกระดูกจะทำให้การยึดติดของข้อเทียมกับกระดูกมีความแข็งแรงมาก จนสามารถให้ผู้ป่วย เดินลงน้ำหนักได้หลังจากการผ่าตัดอย่างรวดเร็ว
ขอบคุณที่มา : http://www.firstphysioclinic.com/
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเอกชัย โทร. 1715 หรือ 034-417-999 ต่อ 132
View our Specialists in our Orthopaedic Doctors page