นิ้วล็อก หรือ Trigger Finger
คือ อาการความผิดปกติของนิ้วมือ โดยที่นิ้วมือไม่สามารถงอหรือเหยียดได้ตามปกติ สาเหตุปัจจัยทางกายภาพนั้น มักเกิดจากการอักเสบหนาตัวของปลอกเอ็นบริเวณข้อนิ้ว ทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในไม่สามารถยืดหดได้ตามปกติ
อาการนิ้วล็อกเป็นอย่างไร ?
เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่โคนนิ้วมือ เวลากดจะรู้สึกเจ็บ ระยะต่อมาจะรู้สึกว่านิ้วมือมีการสะดุดเวลางอ หรือ เหยียดนิ้ว ในผู้ที่มีอาการมากขึ้นจะมีอาการนิ้วไม่สามารถเหยียดออกเองได้ ต้องใช้มืออีกข้างมาดึงเพื่อให้เหยียดออก อาจเป็นเพียงนิ้วเดียวหรือหลายนิ้วพร้อมกันก็ได้ อาการนิ้วล็อกมักพบมากในเวลาหลังจากตื่นนอนตอนเช้า หรือตอนที่ใช้งานบริเวณนิ้วมือต่อเนื่องเป็นเวลานาน
นิ้วล็อกในมุมมองของแพทย์แผนจีนเป็นอย่างไร ?
ในทางการแพทย์แผนจีนได้จัดโรคนิ้วล็อกอยู่ในกลุ่มอาการบาดเจ็บของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ (筋伤) ซึ่งสาเหตุเกิดมาจากการบาดเจ็บ และการหักโหมใช้งานหนักมากเกินไป ร่วมกับการที่มีปัจจัยก่อโรคจากความเย็น และความชื้น มาอุดกั้นเส้นลมปราณทำให้ชี่และเลือดติดขัดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อได้
แพทย์แผนจีนรักษานิ้วล็อกได้อย่างไร ?
- การฝังเข็ม ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ปรับสมดุล
- การครอบแก้ว สามารถช่วยขจัดพิษจากความเย็น ที่เข้ามากระทบทำให้เกิดโรค
- ยาจีน สามารถช่วยปรับสมดุลอวัยวะภายใน
คำแนะนำในการป้องกัน หรือ บรรเทาอาการนิ้วล็อก มีดังนี้
- ไม่ควรใช้งานมือจนหนักเกินไป หากมีอาการเมื่อยมือให้หยุดแล้วนำมือ 2 ข้าง ถูกันจนกระทั่งเกิดความร้อน วิธีนี้จะสามารถช่วยคลายความเมื่อยล้าได้เบื้องต้น
- ไม่ควรปล่อยให้มือเย็นตลอดเวลา เนื่องจากมือเป็นอวัยวะส่วนปลายของร่างกายมนุษย์ หากมืออยู่ในสภาวะที่มีอุณหภูมิต่ำ ทำให้ชี่และเลือดไม่เพียงพอ เมื่อมีอาการเมื่อยล้า การซ่อมแซมกล้ามเนื้อและกระดูกก็จะสูญเสียการหล่อเลี้ยงได้ง่าย
- การแช่มือในน้ำอุ่น สามารถช่วยป้องกันและบรรเทาอาการนิ้วล็อก รวมถึงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายได้
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคไข้รูมาติก และกลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณข้อมือ ควรระมัดระวัง และใส่ใจดูแลนิ้วมือเป็นพิเศษ
บทความโดย: แพทย์จีนจุฑารัตน์ บุญสุธารมณ์ แพทย์แผนจีนประจำโรงพยาบาลเอกชัย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่
แผนกแพทย์แผนจีน รพ.เอกชัย โทร.034-417999 หรือ 1715 ต่อ 201