ภาวะกระดูกหัก
กระดูกหัก หมายถึง การเสียความต่อเนื่องอย่างหนึ่งอย่างใดของกระดูก การหักอาจเป็นเพียงแค่กระดูกเป็นรอยร้าว หรือหักออกจากกันเป็นสองท่อน หรือ แตกออกหลายชิ้น โดยสาเหตุมักเกิดจากมีแรงกระแทกต่อกระดูก เช่น การถูกตีด้วยของแข็ง การตกจากที่สูง เป็นต้น ด้วยในปัจจุบันสาเหตุของกระดูกหักที่พบบ่อยมักเกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งมักก่อให้เกิดอันตรายที่รุนแรง ซึ่งแรงที่กระทำต่อกระดูกนี้ นอกจากจะทำให้กระดูกหักแล้วยังทำให้เยื่อหุ้มกระดูก เส้นเลือด และเนื้อเยื่อรอบๆ กระดูกที่หักได้รับอันตราย อาการของกระดูกหักมักเด่นชัด โดยจะมีอาการปวด และกดเจ็บ บวม เขียวช้ำ รูปร่างของอวัยวะบริเวณนั้นผิดปกติ เช่น กระดูกเกยกัน หรือโค้งงอ เคลื่อนไหวไม่ได้ อาจมีบาดแผลหรือกระดูกโผล่ออกมาให้เห็น
วิธีการรักษากระดูกหัก
โดยธรรมชาติร่างกายสามารถซ่อมแซมกระดูกที่หัก และสามารถทำให้กระดูกที่หักเชื่อมต่อกันเองได้ แต่มักมีกระดูกติด ผิดรูปหรือบางครั้งไม่เชื่อมติดกันทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือใช้งานได้ดังเดิม แพทย์จะเป็นผู้ช่วยจัดแนวกระดูกเพื่อให้เชื่อมติดในตำแหน่งที่ถูกต้อง โดยจะร่วมกับผู้ป่วยในการพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ เช่น สภาพร่างกายของผู้ป่วย อายุ กระดูกที่หักอยู่ตำแหน่งไหน ลักษณะของกระดูกหัก กระดูกหักแล้วเคลื่อนที่ไปมากหรือน้อย และความรุนแรงของการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อโดยรอบ
วิธีการการผ่าตัด
การผ่าตัดมีหลายวิธี อาจแก้ไขความพิการผิดรูปหรือแก้ไขส่วนที่เป็นโรคที่กระดูก หรือที่ข้อ ตลอดจนเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้อง เช่น เอ็น กล้ามเนื้อหรือเอ็นที่ข้อ วิธีการผ่าตัด มีหลายวิธี จะได้กล่าวเป็นเรื่อง ๆ ต่อไปนี้
- การผ่าตัดเพื่อดัดกระดูก วิธีนี้หมายความถึงการตัดส่วนที่เป็นกระดูกเพื่อแก้ความพิการ กล่าวคือ ตัดกระดูกให้ขาดจากกัน แล้วจัดชิ้นของกระดูกที่ตัดขาดให้อยู่ในท่าที่ต้องการ การยึดชิ้นกระดูกเหล่านี้แล้วแต่ความจำเป็น การตัดกระดูกอาจจะตัดผ่านเฉย ๆ หรือตัดบางส่วนออกเป็นรูปลิ่ม หรือตัดเป็นร่องเพื่อยืดความยาวแล้วแต่กรณี
- การดัดหักกระดูก คือ การใช้มือหรือเครื่องมือหักกระดูกที่ติดกันแล้วหรือเริ่มติด ให้หลุดออกจากกันเพื่อจัดให้เข้าแนวดียิ่งขึ้น คือ การแก้ความพิการนั่นเอง
- การผ่าตัดปลูกกระดูก เหตุผลที่ใช้ในการผ่าตัดชนิดนี้เป็นเพราะกระดูกโหว่หายไป หรือมีช่องเกิดขึ้นระหว่างชิ้นกระดูก การใช้กระดูกปลูกก็เพื่อเป็นสะพานเชื่อมให้กระดูกสร้างกระดูกให้ติดกัน ชนิดของกระดูกปลูกอาจได้มาจากตัวผู้ป่วยเองหรือคนอื่น เช่นจากศพ ในกรณีที่กระดูกของผุ้ป่วยเองมีจำนวนไม่เพียงพอ หรือในเด็กยังไม่สามารถผ่าตัดเอากระดูกปลูกของตนไปใช้ได้ นอกจากนี้ยังใช้กระดูกจากสัตว์นำมาปลูกในคนก็ได้
- การผ่าตัดยึดตรึงกระดูกด้วยเครื่องมือ การผ่าตัดชนิดนี้ใช้กันมากในปัจจุบัน คือ ผ่าตัดเพื่อจัดชิ้นกระดูกให้เข้าที่แล้วดามกระดูกด้วยเครื่องมือพวกตะปูควง แกนโลหะหรือแผ่นโลหะ การผ่าตัดตรึงกระดูกนั้น บางครั้งอาจยึดภายนอกโดยไม่ต้องผ่าตัดเข้าไป เครื่องมือชนิดนี้เรียกว่า เครื่องยึดตรึงกระดูกภายนอก (external fixation)
- การผ่าตัดข้อต่อกระดูก การผ่าตัดเกี่ยวกับข้อมีหลายวิธีด้วยกัน อาจผ่าตัดเพื่อเอาชิ้นส่วนที่ลอยหลุดอยู่ในข้อ ซึ่งเป็นผลจากการแตกของชิ้นกระดูกงอกที่ขอบของข้อที่เกิดจากการอักเสบเสื่อมเป็นเวลานาน และกระดูกชิ้นนี้แตกพลัดลอยอยู่ในข้อ การผ่าตัดเกี่ยวกับข้อนี้ บางครั้งไม่สามารถจะแก้ความพิการภายในข้อได้ ก็ต้องผ่าตัดเชื่อมข้อหรือผ่าตัดใส่ข้อเทียมแล้วแต่กรณี
- การผ่าตัดเนื้อเยื่ออย่างอื่น เพื่อแก้ไขความพิการอาจจะต้องผ่าตัดเอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นยึดข้อ เอ็นหุ้มข้อ ประสาทส่วนปลาย บางครั้งอาจจะเป็นการตัดเอ็นให้ขาด บางครั้งอาจเป็นการเย็บทบเอ็นให้สั้นเข้าเพื่อกระชับข้อ นอกจากนี้ในรายที่เอ็นขาดอาจต้องนำเอ็นมาจากที่อื่นย้ายมาเย็บปลูกเพื่อทำหน้าที่แทน ในโรคโปลิโอหรืออัมพาตอาจต้องใช้เอ็นของกล้ามเนื้อที่ยังดีอยู่ไปทดแทนหน้าที่ของกล้ามเนื้อที่เสียหน้าที่ และในการผ่าตัดกระดูก บางครั้งต้องการให้ช่องสำหรับทำงานกว้างขึ้น อาจต้องตัดกล้ามเนื้อที่กีดขวาง การตัดประสาทส่วนปลายที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อใช้ในกรณีที่กล้ามเนื้อหดเกร็งมากและกระตุก เช่น โรคอัมพาตสมองใหญ่ ในพวกที่ได้รับบาดเจ็บประสาทส่วนปลายขาด การผ่าตัดก็ต้องเย็บซ่อมต่อประสาท หรือถ้าจำเป็นต้องนำเอาประสาทจากส่วนอื่นมาปลูกต่อส่วนยาวที่ขาดหายจากการบาดเจ็บที่เป็นช่วงยาวเกินกว่าจะเย็บต่อได้
- การผ่าตัดปลูกผิวหนัง การผ่าตัดเกี่ยวกับกระดูกและข้อบางกรณีจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขสภาพผิวหนังที่ปกคลุมกระดูกและข้อให้ดีเสียก่อน เพื่อผลการผ่าตัดกระดูกจะดียิ่งขึ้นและลดการติดเชื้อเนื่องจากผิวหนังเป็นแผลเรื้อรัง การปลูกผิวหนังบางครั้งอาจต้องทำในรายที่มีแผลเป็นที่ผิวหนัง ถ้าผ่าตัดผ่านบริเวณนี้จะมีผลเสีย แผลหายช้า หรือในรายที่มีแผลเป็นแข็งอาจขัดขวางการเคลื่อนไหวของข้อไม่ให้ข้อเคลื่อนไหวได้เต็มที่ จึงต้องผ่าตัดเอาผิวหนังที่เป็นแผลเป็นรั้งข้อนั้นออกและนำผิวหนังที่อื่นไปปลูกคลุมแทน
- การตัดแขนหรือขาผู้ป่วย บางครั้งเมื่อรักษาโรคไม่ได้หรือไม่สำเร็จด้วยสาเหตุใด ๆก็ดี เช่น เป็นโรคเนื้องอกชนิดร้าย หรือแขนขาได้รับบาดเจ็บอย่างมากจนไม่สามารถจะใช้งานต่อไปได้อีก ก็ต้องตัดส่วนแขนขานั้นออก การตัดแขนขาต้องระมัดระวังอาการแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น อาจเกิดปมประสาทเป็นเนื้องอก เจ็บปวดเมื่อถูกต้องปลายแขนขาที่ตัด ปลายกระดูกที่ตัดจะต้องมีกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่ออ่อนอื่น ๆ ที่หนาพอหุ้มไว้ การระวังรักษาปลายแขนขาที่ตัดมีความสำคัญเพราะต้องให้สภาพผิวหนังภายนอกเรียบร้อย ทนการเสียดสีได้บ้างเวลาสวมแขนขาเทียม ดังนั้นการพันแผลหลังการผ่าตัดจึงต้องระมัดระวังไม่ให้แน่นเกินไป แต่ถ้าหลวมเกินไปปลายแขนขาที่ตัดจะไม่เป็นรูปกรวยตามที่ต้องการ เพื่อสวมเข้ากับแขนขาเทียม การตัดแขนขามีแบบต่าง ๆ ดังนี้
-
การตัดเท้า อาจจะตัดผ่านตรงกลางของเท้าพอดี หรือโคนกระดูกนิ้วเท้า หรือตัดผ่านตรงหน้าข้อเท้าพอดี และการตัดเท้าออกหมดเหลือแต่ส้นเท้าไว้รับน้ำหนักเท่านั้น
-
การผ่าตัดขาใต้เข่า นิยมตัดในระดับกึ่งกลางความยาวของหน้าแข้ง หรือสูงขึ้นไปถึงปลายบนของกระดูกหน้าแข้ง แต่ส่วนที่เหลือต้องไม่สั้นกว่า 5 ซม.
-
การตัดขาระดับเหนือเข่า ระดับที่เหมาะสมได้แก่การตัดให้คงความยาวของกระดูกต้นขาไว้ 2 ใน 3 และต้องเหลือปลายบนแม้จะสั้น การตัดต่ำกว่าระดับ 1 ใน 3 จากเข่าขึ้นมาจะขัดขวางส่วนที่เป็นข้อต่อของขาเทียม แม้จะทำขาเทียมให้ใส่ได้ก็ทำให้ขายาวเกิน การสร้างขาเทียมจะลำบาก
-
การตัดระดับมือและนิ้วมือ นิ้วมือสามารถจะตัดออกได้แทบทุกนิ้ว แต่หัวแม่มือจะต้องพยายามรักษาไว้จนสุดความสามารถเพราะทำหน้าที่สำคัญในการหยิบจับ โดยทั่วไปแล้วการตัดมือจะต้องพยายามเหลือให้ยาวที่สุดเท่าที่จะพยายามได้
-
การตัดแขนระดับใต้ศอก ความยาวที่ควรจะรักษาไว้ คือ 2 ใน 3 ของความยาวทั้งหมด ความสามารถในการคว่ำและหงายมือของช่วงแขนนี้มีความสำคัญมาก การเหลือปลายของกระดูกแขนใต้ศอกไว้เป็นสิ่งจำเป็นมาก แม้แต่จะเหลือสั้นก็ต้องรักษาไว้เพื่อการใส่แขนเทียม
-
การตัดแขนระดับเหนือข้อศอก ต้องคงความยาวให้มากที่สุดที่จะยาวได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเอกชัย โทร 1715 หรือ 034-417-999 ต่อ 132
View our Specialists in our Orthopaedic Doctors Page