ปัสสาวะเล็ด เป็นอาการที่กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ พบได้บ่อยในผู้หญิง คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าปัญหาปัสสาวะเล็ด มักเกิดในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เคยคลอดลูกเท่านั้น แท้จริงแล้วปัสสาวะเล็ด เกิดขึ้นได้ตั้งแต่คนที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ด้วยความอ่อนแอของอุ้งเชิงกราน ปัญหานิ่ว หรือเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ จึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง จะได้แก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง
ภาวะปัสสาวะเล็ด
หรือภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary Incontinence) เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม ผู้หญิงหลายคนไม่กล้าเข้าสังคม เพราะรู้สึกอายเกรงจะมีปัสสาวะเล็ดต่อหน้าผู้คน ปัญหาการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องซื้อผ้าอนามัย หรือแผ่นรองซับ ปัญหาจากกลิ่นปัสสาวะที่ติดเสื้อผ้า ปัญหาเพศสัมพันธ์กับคู่นอน และปัญหาต่อเนื่องอื่นๆ
ชนิดของภาวะปัสสาวะเล็ดแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ 3 กลุ่มดังนี้
- ปัสสาวะเล็ดจากการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง (Stress Urinary Incontinence) ภาวะปัสสาวะเล็ดเกิดขึ้น เมื่อมีการไอ จาม หัวเราะ การยกของหนัก หรือการเบ่งถ่ายอุจจาระ สาเหตุภาวะนี้มักเกิดจาก การปิดของหูรูดของท่อปัสสาวะ (Sphincter Muscle) ไม่ดี จากอายุที่เพิ่มขึ้น หรือ หลังคลอดบุตร
- ปัสสาวะราด (Urge Urinary Incontinence) เป็นอาการที่มีอาการปวดปัสสาวะ นำมาก่อน แ ล้วค่อยมีปัสสาวะราด ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ทำให้นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ สาเหตุมักเกิดจาก กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ บีบตัวมากกว่าปกติ หรือสัญญาณที่ส่งมายับยั้งรีเฟล็กซ์การขับถ่ายปัสสาวะมีปริมาณน้อยลง
- ปัสสาวะไหลรินออกมาตลอดเวลา โดยไม่รู้ตัว ไม่มีอาการปวดปัสสาวะ (Overflow Urinary Incontinence) เกิดจากการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการบีบรัดกระเพาะปัสสาวะเสียไป ทำให้มีปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะจำนวนมาก ปัสสาวะจึงล้นและไหลออกมาเองพบในผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุบริเวณไขสันหลัง
การรักษาภาวะปัสสาวะเล็ด
แนวทางการรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดมี 2 วิธี ได้แก่
- การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด มี 2 วิธีที่จะช่วยประคับประคอง ให้สามารถกลั้นปัสสาวะได้ดีขึ้น ได้แก่
-
- การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยการฝึกขมิบช่องคลอด (Kegel Exercise) โดยขมิบค้างไว้ครั้งละ 5 วินาที 30 ครั้ง อย่างน้อยวันละ 3 รอบ ใช้เวลา 3 – 6 เดือน จึงจะเริ่มเห็นผล หากหยุดฝึก อาการอาจจะกลับมาเป็นซ้ำ ผลการรักษาวิธีนี้ ได้ผลประมาณ ร้อยละ 30 – 40 ส่วนใหญ่จะยังมีอาการอยู่
- การรักษาโดยใช้เครื่องกระตุ้นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (PMS) การรักษาวิธีนี้เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องใช้ยา การทำงานของเครื่อง จะใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นลงไปยังเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณกระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปัสสาวะ เพื่อปรับโครงข่ายการทำงานของเส้นประสาทใหม่ เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อหูรูด กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และกล้ามเนื้อหน้าท้อง
การรักษาด้วยเครื่อง PMS แพทย์จะนัดประมาณสัปดาห์ละ 3 ครั้ง หลังการรักษาครั้งที่ 3 ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสามารถกลั้นปัสสาวะได้มากขึ้น และการขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำได้ดีขึ้น
- การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยอุปกรณ์พยุงช่องคลอด (Vaginal Pessary) หรือ การผ่าตัดเย็บเนื้อเยื่อบริเวณใกล้คอปัสสาวะติดกับกระดูกหัวหน่าว วิธีนี้ไม่ค่อยนิยม เนื่องจากแผลผ่าตัดกว้าง ใช้เวลาพักฟื้นนาน ปัจจุบันแพทย์มักจะแนะนำ การผ่าตัดรีแพร์ (A-P Repair) เป็นการผ่าตัดกระชับช่องคลอด ซึ่งช่วยให้อาการปัสสาวะเล็ดดีขึ้น แต่อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีกในระยะ 5 ปี หลังผ่าตัด
การป้องกันการเกิดภาวะปัสสาวะเล็ด
- ดูแลระบบขับถ่าย ไม่ให้เกิดปัญหาท้องผูกลดการเบ่งถ่ายอุจจาระมากๆ
- ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
- ไม่กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน
- ออกกลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานแข็งแรง
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและนัดหมายได้ที่
โทร. 034 – 417 – 999 สายด่วน 1715
ศูนย์สูติ – นรีเวช และผู้มีบุตรยาก ต่อ 221, 222
ศูนย์ศัลกรรมทางเดินปัสสาวะ ต่อ 132, 133