โรคไข้หวัดใหญ่
เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) มี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ A, B และ C โดยส่วนใหญ่แล้ว มักพบการติดเชื้อสายพันธุ์ A และ B ซึ่งทำให้เกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน
อาการทั่วไปที่พบได้เมื่อผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ คัดจมูก ซึ่งในระยะแรกๆ ผู้ป่วยมักมีอาการไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่เกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต
ดังนั้น วิธีการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้แก่ร่างกาย
กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ และควรได้รับการป้องกันด้วยวัคซีนมีใครบ้าง ?
- เด็กที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป
- หญิงตั้งครรภ์ ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
- ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
- ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย
วัคซีนไข้หวัดใหญ่เริ่มฉีดได้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยฉีดปีละ 1 ครั้ง และสามารถฉีดได้ตลอดปี แต่แพทย์มักจะแนะนำให้ฉีดในช่วงเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน (มีนาคม-พฤษภาคม) หรือช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว (ตุลาคม-พฤศจิกายน)
สำหรับเด็กที่มีอายุมากกว่า 9 ปี และได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นครั้งแรก ให้ฉีดวัคซีนทั้งหมด 2 เข็ม โดยแต่ละเข็มให้ฉีดห่างกัน 1 เดือน และหลังจากนั้นให้ฉีดกระตุ้นซ้ำทุกปี ปีละ 1 เข็ม
ทำไมควรต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในทุกปี ?
เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปี และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถลดต่ำลงได้ในระยะเวลาไม่นาน ดังนั้นการฉีดวัคซีนทุกปีจึงเป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูง ซึ่งภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นหลังจากฉีดไปแล้วประมาณ 7 – 14 วัน
ใครบ้างที่ “ไม่ควร” ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน
- คนที่มีประวัติแพ้ไก่หรือไข่ไก่อย่างรุนแรง
- ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง
- ผู้ที่มีไข้ หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวกำเริบ ควบคุมไม่ได้ ควรเลื่อนการรับวัคซีนไปก่อนจนกว่าอาการจะหายดี