การเดินสำรวจโรงงานทางอาชีวอนามัย เป็นการเดินสำรวจโรงงาน เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลมาใช้ในการดูแลสุขภาพคนทำงานได้อย่างถูกต้องครบถ้วนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การเดินสำรวจนั้น เกิดประโยชน์กับทั้งฝ่ายนายจ้างและตัวคนทำงาน การเดินสำรวจโรงงานนั้น เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะใช้ในการเก็บข้อมูลการสัมผัสสิ่งคุกคามของคนทำงานภายในโรงงานนั้น เนื่องจากแพทย์ได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์การทำงานจริง ซึ่งจะทำให้เข้าใจเหตุการณ์ได้มากกว่าทราบข้อมูลจากคำบอกเล่าของคนทำงานหรือนายจ้าง
วัตถุประสงค์ของการเดินสำรวจโรงงานโดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์
- เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการสัมผัสสิ่งคุกคามในแผนกต่างๆ ของโรงงาน หรือกรณีที่โรงงานพึ่งจะสร้างเสร็จใหม่ๆ การเดินสำรวจดูความเสี่ยงต่อการสัมผัสสิ่งคุกคามในทุกแผนก และเก็บข้อมูลไว้เพื่อดำเนินการต่อไป
- เพื่อวางแผนการตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจก่อนเข้าทำงาน ก่อนกลับเข้าทำงาน ให้กับคนทำงาน เมื่อค้นหาสิ่งคุกคามและประเมินความเสี่ยงในแต่ละแผนกแล้ว แพทย์จะนำข้อมูลความเสี่ยงนั้น มาพิจารณาวางแผนการตรวจสุขภาพให้กับคนทำงานแต่ละแผนกอย่างตรงกับความเสี่ยงที่คนทำงานแต่ละแผนกได้รับ
- เพื่อประเมินคุณภาพ ในกรณีที่มีการจัดทำมาตรฐานคุณภาพของโรงงาน ในกรณีจะจัดตั้งโรงงานใหม่หรือต่ออายุใบอนุญาต
- เมื่อโรงงานเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่หรือเปลี่ยนกระบวนการผลิตใหม่ ซึ่งก็จะทำให้ความเสี่ยงต่อสุขภาพของคนทำงานเปลี่ยนไปด้วย
- เพื่อประเมินการกลับเข้าทำงานของคนทำงานที่เจ็บป่วย เมื่อคนทำงานเจ็บป่วยหนักถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ และฟื้นฟูจนกลับเข้ามาทำงานได้ แพทย์จะไปประเมินที่หน้างานด้วยว่าคนทำงานนั้นจะกลับไปทำงานได้อย่างปลอดภัยหรือไม่
- เพื่อตรวจสอบ เมื่อเกิดกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน หรือเกิดการร้องเรียนในเรื่องการดูแลสุขภาพของลูกจ้างไปที่กระทรวงแรงงาน แพทย์อาจจะประเมินดูจุดเสี่ยงที่เป็นปัญหานั้น
ขั้นตอนการเดินสำรวจโรงงาน
ขั้นตอนในการเดินสำรวจโรงงานนั้น โดยทั่วไปจะเป็นดังนี้
- ติดต่อแพทย์อาชีวเวชศาสตร์นัดหมายวันเวลาและวัตถุประสงค์ของการเดินสำรวจ
- การเดินสำรวจโดยทั่วไปจะใช้เวลาหนึ่งวัน ถ้าโรงงานเล็กอาจจะใช้เวลาน้อยกว่านั้นคือประมาณครึ่งวัน แต่ถ้าโรงงานขนาดใหญ่มากจะใช้เวลาหลายวัน หากเวลาน้อยเกินไปจะทำให้ไม่สามารถเก็บข้อมูลมาประเมินได้อย่างถูกต้อง
- โรงงานเตรียมข้อมูลไว้ล่วงหน้า เช่น รายการสารเคมีที่ใช้ ผลการตรวจวัดทางสิ่งแวดล้อม ผลการตรวจสุขภาพเมื่อปีก่อนๆ แพทย์จะแนะนำตัว แนะนำทีมงาน และบอกวัตถุประสงค์ในการเดินสำรวจให้ทางผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของโรงงานทราบ
- เมื่อทำความรู้จัก และเก็บข้อมูลในเบื้องต้นเสร็จแล้ว จึงเริ่มดำเนินการเดินสำรวจโรงงาน
- หลังจากเดินสำรวจเสร็จ จะมีการประชุมสรุป อีกครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้ทางโรงงานได้ซักถามสิ่งที่สงสัย เก็บข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่ได้ข้อมูล และนัดหมายการดำเนินการอย่างอื่นต่อไป
- เขียนรายงาน เพื่อให้โรงงานได้เก็บไว้เป็นหลักฐานการเดินสำรวจในทุกๆ ครั้ง การเขียนเป็นรายงานสรุปจะทำให้โรงงานสามารถนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงการดูแลสุขภาพของคนทำงานให้ดีขึ้นได้
สิ่งที่ต้องประเมิน
- สภาพสิ่งแวดล้อมทั่วไปของโรงงาน (general environment) การรักษาความสะอาด การบำรุงรักษาสถานที่ (housekeeping) การจัดวางผังโรงงาน (layout)
- การดูแลด้านความปลอดภัย (safety environment)
- การสัมผัสสิ่งคุกคาม (hazard) ของคนทำงานแต่ละแผนก
- การดูแลด้านสวัสดิการ (welfare) และสุขอนามัยทั่วไป (general hygiene)
- การจัดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (personal protective equipment; PPE)
- การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม (environmental management) มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด มีการควบคุมสารพิษที่ปล่อยออกสู่อากาศ (air emission)
โรงงานสามารถนำรายงานที่เขียนโดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์นี้ ไปทำการปรับปรุงแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาการดูแลสุขภาพของคนทำงานในโรงงานได้ต่อ หากจะนำไปประกอบการจัดทำมาตรฐานคุณภาพบางอย่าง เช่น ISO 14001 หรือ OSHAS 18001 หรือให้ลูกค้า (customer) หรือผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) ทั้งในประเทศและต่างประเทศตรวจสอบก็สามารถทำได้ การเขียนรายงานจึงเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรที่เป็นสิ่งสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างมากกับทางโรงงาน แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จึงควรจะเขียนทุกครั้งที่ได้ไปสำรวจโรงงานถ้าสามารถทำได้ และหากบริษัทนั้นเป็นบริษัทข้ามชาติ การเขียนรายงานหรือสรุปรายงานเป็นภาษาอังกฤษด้วยก็จะยิ่งมีประโยชน์ต่อการที่ทางโรงงานจะนำไปใช้สื่อสารกับบริษัทแม่
ข้อมูลที่ต้องเตรียมก่อนการสำรวจโรงงาน
- ข้อมูลติดต่อโรงงาน
- รายละเอียดกระบวนการผลิต , แผนกต่างๆ
- ข้อมูลสารเคมีที่ใช้ , สารเคมีหลัก , สารที่ใช้บ่อย , สารส่วนประกอบ , สารที่คนงานสัมผัสโดยตรง
- ข้อมูลผลตรวจวัดทางสิ่งแวดล้อม (EIA)
- ข้อมูลการตรวจสุขภาพพนักงานปีก่อนๆ
- ประวัติการลาป่วยของพนักงาน
- สวัสดิการของพนักงาน
- ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับคนทำงาน เช่น การทำงานเป็นกะ การสลับกะ จำนวนคนทำงาน จำนวนวันหยุด เป็นต้น
- ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน เช่น ป้ายเตือนต่างๆ ทางหนีไฟ เป็นต้น
เบอร์โทรติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย (บริหารงานลูกค้าบริษัท)
โทร. 1715 หรือ 034-417-999 ต่อ 9649 ถึง 9651
คุณเจ: 086-3487696
คุณนาง: 090-9930781
คุณแพน: 084-3393702
หรือ email : mkc@ekachaihospital.com